ยอป่า
  ชื่อสามัญภาษาไทยยอป่า
  ชื่อวิทยาศาสตร์Morinda coreia Buch.-Ham.
  ชื่อพ้องMorinda exserta Roxb., Morinda tinctoria
  ชื่อวงศ์Rubiaceae
  ชื่อท้องถิ่นคุย (พิษณุโลก), อุ้มลูกดูหนัง (สระบุรี), สลักป่า สลักหลวง (เหนือ), กะมูดู (มลายู), คุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ย่อป่าเป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านมักคดงอ หักง่าย ผิวกิ่งมีปุ่มปมมาก ช่อดอกและใบออกหนาแน่นรวมกันที่ปลายกิ่ง เรือนยอดเป็นพุ่มรี เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา หนาแตกเป็นร่องตามยาว และแนวขวาง หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ 

ใบ เดี่ยว รูปรีหรือไข่กลับ เรียงตัวแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายใบมนหรือแหลม ฐานใบแหลมหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่น หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ใบแก่บาง เหนียว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่ม ขนาดของใบ 4-7 x 8-17 ซม. มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ หลุดร่วงง่าย มักพบใบออกรวมกันอยู่ที่ปลายกิ่ง 

ดอกเป็นช่อ ออกรวมกันเป็นกลุ่มที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดดอก 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลม แยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกหนาเมื่อดอกบานปลายกลีบแผ่กว้างออก หลอดกลีบเลี้ยงด้านบนแบน สีเขียวอมเหลือง เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียงที่ฐาน เกสรตัวผู้สั้น 5 อัน ชูพ้นหลอดกลีบดอก 

ผลเป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม ผลอ่อนสีเขียว เนื้อในอ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ สีขาว ผลแก่สีดำ มีเมล็ดมาก สีน้ำตาล เมล็ดแบน 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย ออกดอกเดือนเมษายน-กรกฎาคม ผลออกช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม พบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ยอป่าเป็นไม้มงคลของอีสาน ในการนำข้าวขึ้นยุ้งจะตัดกิ่งยอป่ามาค้ำยุ้งไว้ก่อนนำข้าวขึ้นยุ้ง เพื่อเป็นสิริมงคล มีความหมายว่าให้ข้าวเพิ่มพูน

สรรพคุณทั่วไป

ตำรายาไทย 
  • ใบ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ม้ามโต 
  • ใบสด ตำพอกศีรษะฆ่าไข่เหา อังไฟแล้วนำมาปิดที่หน้าอกหน้าท้องแก้ไอ แก้จุกเสียด แก้ม้ามโต แก้ไข้ 
  • ผลอ่อน แก้คลื่นไส้อาเจียน ผลสุกงอม ขับระดูสตรี ขับลมในลำไส้ 
  • ผลสุกรับประทานได้ 
  • เปลือกและเนื้อไม้ แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย 
  • แก่น รสขมร้อน ต้มหรือดองสุรา ดื่มขับเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับและฟอกโลหิตระดู แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ขับผายลม ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก 
  • ราก แก้เบาหวาน ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีแดง 
  • ใบอ่อน ยอดอ่อน ลวก ต้มให้สุกจิ้มน้ำพริก

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  แก่นดองสุรา ขับน้ำคาวปลา
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.samunpri.com/ยอป่า/
  2. https://som5566.blogspot.com/2014/09/blog-post_21.html