ว่านน้ำ
  ชื่อสามัญภาษาไทยว่านน้ำ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCalamus, Calamus Flargoot, Flag Root, Mytle Grass, Myrtle sedge, Sweet Flag, Sweetflag, Sweet Sedge
  ชื่อวิทยาศาสตร์Acorus calamus L.
  ชื่อพ้องAcorus angustifolius Schott, Acorus aromaticus Gilib., Acorus calamus var. verus L., Acorus terrestris Spreng.
  ชื่อวงศ์Araceae
  ชื่อท้องถิ่นว่านน้ำเล็ก ฮางคาวผา (เชียงใหม่), ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี), กะส้มชื่น คาเจี้ยงจี้ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวบ้าน ฮางคาวน้ำ (ภาคเหนือ), ทิสีปุตอ เหล่อโบ่สะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แป๊ะอะ (ม้ง),ช่านโฟ้ว (เมี่ยน), สำบู่ (ปะหล่อง), จะเคออ้ม ตะไคร้น้ำ (ขมุ). แปะเชียง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยชังฝู ไป๋ชัง (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นว่านน้ำ จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 50-80 เซนติเมตร และมีเหง้าเจริญไปตามยาวขนานกับพื้นดิน เหง้าเป็นรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อ ๆ มองเห็นชัด ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรากฝอยเป็นเส้นเล็กยาวติดอยู่ทั่วไป พันรุงรังไปตามข้อปล้องของเหง้า เนื้อภายในเป็นสีเนื้อแก่ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อนฉุนและขม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกหน่อ มักพบขึ้นเองตามบริเวณริมหนองน้ำ สระ บ่อ คูคลอง ในที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำตื้น 

ใบว่านน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันซ้ายขวาแบบทแยงกัน ใบแตกออกมาจากเหง้าเป็นเส้นตรงและยาว ลักษณะของใบเป็นรูปเรียวแหลม ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 80-110 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มองเห็นเส้นกลางใบได้ชัดเจน 

ดอกว่านน้ำ ออกดอกเป็นช่อ แทงออกมาจากเหง้า ลักษณะของดอกเป็นแท่งทรงกระบอก เป็นสีเหลืองออกเขียว ดอกมีขนาดประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งประกอบไปด้วยดอกย่อยเรียงตัวติดกันแน่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปกลม ปลายกลีบโค้งงอ มีกายใบห่อหุ้ม 1 ใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีกาบใบหุ้ม ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน เกสรเพศผู้มีประมาณ 6 อัน ก้านเกสรเพศเป็นสีขาว เป็นเส้นแบนยาว และมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน มีรังไข่ลักษณะกลมยาวหรือเป็นรูปกรวย - ผลว่านน้ำ ผลเป็นผลสดขนาดเล็ก ผลมี 2-3 เซลล์ ลักษณะคล้ายลูกข่างหรือปริซึม ปลายบนคล้ายพีรามิด ผลเมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนน้อย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี

สรรพคุณทั่วไป

  • เหง้าว่านน้ำมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ยาหอม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุน้ำ โดยใช้เหง้าแห้งประมาณ 1-3 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเย็น ติดต่อกันจนกว่าธาตุจะปกติ 
  • ใช้เป็นยาขมช่วยทำให้เจริญอาหาร โดยใช้เหง้าแห้งประมาณ 1-3 กรัม 
  • ช่วยบำรุงหัวใจ 
  • ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงประสาท หลอดลม 
  • เหง้าใช้เป็นยาระงับประสาท สงบประสาท แก้อาการสะลึมสะลือ มึนงง รักษาอาการลืมง่าย ตกใจง่าย หรือมีอาการตื่นเต้นตกใจกลัวจนสั่น จิตใจปั่นป่วน ให้ใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, เอี่ยงจี่ 10 กรัม, หกเหล้ง 10 กรัม, เหล่งกุก 10 กรัม, และกระดองส่วนท้องของเต่า 15 กรัม ใช้แบ่งกินครั้งละประมาณ 3-5 กรัม วันละ 3 เวลา 
  • รากใช้เป็นยาแก้ Hysteria (โรคประสาทแบบฮีสทีเรีย) และ Neuralgia (อาการปวดตามเส้นประสาท) 
  • ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำใช้สุมหัวเด็ก จะช่วยรักษาอาการปวดศีรษะได้ 
  • ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดศีรษะได้เช่นกัน 
  • ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ 
  • เหง้ามีรสขมเผ็ด ใช้แก้โรคลม 
  • ใช้รักษาอาการกระจกตาอักเสบ โดยใช้เหง้าแห้งนำมาใส่น้ำ ต้มให้เดือดโดยใช้ไฟอ่อน ๆ เสร็จแล้วเอากากออก เทมาปรับความเป็นกรดและด่าง ให้เป็นกลาง แล้วกรองให้ใส หรือจะใช้เหง้าที่แห้งใส่น้ำแล้วต้ม เทมาปรับความเป็นกรดและด่างให้เป็นกลางด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ แล้วกรองให้ใส นำมาบรรจุใส่ภาชนะ แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่มีความดันสูง น้ำมาใช้เป็นยาหยอดตา หรือใช้ล้างตาวันละครั้ง 
  • ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งนำไปบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้ทา 
  • ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งนำไปบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้ทา 
  • เหง้านำมาต้มรวมกับขิงและไพลใช้กินเป็นยาแก้ไข้ 
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น 
  • ชาวอินเดียจะฉีดรากเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาเคี้ยวประมาณ 2-3 นาที เป็นยาแก้หวัดและเจ็บคอ ส่วนชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน จะใช้ช่อดอกและยอดอ่อน นำมารับประทานสดเพื่อรักษาอาการหวัด 
  • ใช้รักษาอาการไอ ด้วยการใช้ชิ้นเล็ก ๆ ของว่านน้ำแห้ง นำมาอมเป็นยาแก้ไอ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมระเหยเวลาหายใจอีกด้วย 
  • รากมีสรรพคุณช่วยแก้หืด 
  • เหง้ามีรสขมเผ็ด มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ปอด และม้าม ใช้เป็นช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ แก้เสมหะอุดตันในทางเดินหายใจ 
  • ผงจากรากหรือเหง้าถ้ากินมากกว่าครั้งละ 2 กรัม จะทำให้อาเจียน อาจนำมาใช้ประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยกินสารพิษเข้าไป และต้องการจับสารพิษออกจากทางเดินอาหารด้วยการทำให้อาเจียน 
  • ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ หรือหวัดลงคอ 
  • รากใช้ฝนกับเหล้าทาหน้าอกเด็กเพื่อเป็นยาดูดพิษ แก้หลอดลม และปอดอักเสบ 
  • ช่วยแก้ลมจุกแน่นในทรวงอก และแก้ลมที่อยู่ในท้องแต่อยู่นอกกระเพาะและลำไส้ 
  • ใช้เป็นยาขับลมในท้อง แก้ลมขึ้น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ด้วยการใช้เหง้าประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ด้วยการใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, หัวแห้วหมู 15 กรัม, เมล็ดแก่ของหัวผักกาดขาว 10 กรัม และซิ่งเข็ก 10กรัม นำมาผสมกันแล้วนำไปต้มเป็นยากิน 
  • ส่วนชาวปะหล่องจะรากและเหง้า จิ้มกับเกลือใช้รับปะทานสดเพื่อรักษาอาการปวดท้อง หรือนำมาซอยบาง ๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงใช้ร่วมกับปูเลย นำมากินแล้วดื่มน้ำตาม จะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ 
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย 
  • ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร 

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ชาวเมี่ยนจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานร่วมกับลาบ
  • ช่อดอกอ่อน ๆ จะมีรสหวาน เด็กชอบกิน ส่วนรากอ่อนเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์จะชอบนำมาเคี้ยวเล่นเป็นหมากฝรั่ง
  • ชาวปะหล่องจะใช้รากนำมาเป่าคาถา แล้วนำไปถูกตัวผู้ที่โดนผีเข้า เพื่อไล่ผี และใช้เป็นยาประจำบ้านที่นิยมใช้กันทั่วไป
  • เหง้าว่านน้ำสามารถนำมาใช้ไล่ยุงและแมลง ช่วยป้องกันแมลงมากัดกินข้าว และเสื้อผ้าได้ และยังนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรอบ ๆ ต้นไม้ที่ปลูก เพื่อเป็นยาฆ่าปลวกที่ผิวดินและป้องกันต้นไม้ สำหรับสูตรไล่ยุง ให้ใช้เหง้าสดนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ โขลกผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 1 แล้วกรองเอาแต่ส่วนที่เป็นน้ำมาใช้ทาผิวหนัง ส่วนรากใช้เป็นยาเบื่อแมลงต่าง ๆ เช่น แมลงวัน
  • เหง้าสดเมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.17% สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางประเภทสบู่ ผงซักฟอก น้ำหอม ครีม และโลชั่นต่าง ๆ ได้
  • มีบ้างที่นำว่านน้ำปลูกไว้เป็นไม้ประดับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านน้ำ”. หน้า 715-718.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านน้ํา”. หน้า 35.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านน้ำ”. หน้า 510.
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ว่านน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [03 มิ.ย. 2014].
  5. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ว่านน้ํา” หน้า 168-169.
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [03 มิ.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ว่านน้ํา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [03 มิ.ย. 2014].
  8. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมันของสารประกอบในน้ำมันจากต้นว่านน้ำ (Acorus calamus)”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [03 มิ.ย. 2014].
  9. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “คาเจี้ยงจี้, ว่านน้ำ , ว่านน้ำเล็ก”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิติ
  10. นันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [03 มิ.ย. 2014].