โคคลาน
  ชื่อสามัญภาษาไทยโคคลาน
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCocculus, Cocculus indicus, Fishberry indian berry
  ชื่อวิทยาศาสตร์Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn.
  ชื่อวงศ์Menispermaceae
  ชื่อท้องถิ่นว่านนางล้อม, เครือแม่น้ำนอง (ภาคเหนือ), หวานดิน (ภาคกลาง) , ลุมปรี , เถาขะโนม (ภาคตะวันออก), วาลำลงพนม (ปราจีนบุรี,กัมพูชา), กูเราะ, เปรียะ (นราธิวาส, มาเลเซีย), เถาวัลย์ทอง (ประจวบคีรีขันธ์), เถาพนม (ชลบุรี), ลุ่มปรี (ตรัง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    โคคลานจัดเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ เถายาวทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือทอดเลื้อยไปพันตามต้นไม้อื่นๆ เถาแก่มีขนาดใหญ่สีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้แข็ง ส่วนเถาอ่อน เปลือกสีครั่ง มีหนาม
    
    ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปหัวใจ จาว 10-25 ซม. กว้าง 8-20 ซม. ผิวใบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ตรงโคนมีต่อมขมเล็กๆ อยู่

    ดอกออกเป็นช่อโดยมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย โดยดอกจะออกตามซอกใบ แต่ละช่อดอกจะมีความยาว 15-40 ซม. และมีดอกย่อยออกด้านข้างของช่อ

    ผลออกเป็นช่อ เป็นผลสดตอนอ่อนมีสีขาว เมื่อผลแก่จะมีสีแดงหรือสีม่วง ลักษณะผลเป็นทรงกลม ขนาดเล็กผิวเกลี้ยง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เมล็ดมี 1 เมล็ดใน 1 ผล เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว มีรสขม อยู่ในผนังผลขั้นในที่มีรูปร่างคล้ายไต

สรรพคุณทั่วไป

  • แก้ปวดปวดหลัง
  • แก้ปวดเอว
  • แก้ปวดกล้ามเนื้อ
  • แก้เส้นตึง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้กษัย
  • แก้ไตพิการ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้อาการคัน โรคผิวหนังต่างๆ
  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยให้เจริญอาหาร

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • เถาและรากใช้ต้มน้ำแล้วใช้ดื่ม แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกระดูก ปวดข้อ แก้เส้นเอ็นอักเสบตึงปวด บำรุงโลหิต บำรุงกำลังแก้กษัย ขับปัสสาวะ
  • อีกตำรับหนึ่งใช้โคคลาน 2 ส่วน ทองพันชั่ง มะตูม โด่ไม่รู้ล้ม อย่างละ 1 ส่วน ใส่น้ำให้ท่วมยาแล้ว นำไปต้มเดือด รินดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา โดยให้อุ่นยากินเรื่อย ๆ จนยาจืดจึงเปลี่ยนยาหม้อใหม่ หรือจะนำเครื่องยาแห้งตำรับนี้มาบดผงใส่แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานก่อนอาหารครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 เวลาก็ได้ นอกจากนี้ตามภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีการนำเถาโคคลาน ต้นโด่ไม่รู้ล้ม ต้นหรือใบทองพันชั่งมาดองกับเหล้าขาว ใช้ดื่มวันละ 1-2 เป๊ก เพื่อแก้กษัย แก้ปวดเมื่อยกระดูกและเส้นเอ็น บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1.  ภญ.กฤติยา ไชยนอก.สมุนไพรไทยกับภาวะเสื่อมสมรรถภาพ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2.  ธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ.พืชที่ให้สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Psychotropic Plants).กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้.สำนักงานหอพรรณไม้.กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  3.  วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.โคคลาน.พจนานุกรมสมุนไพรไทยฉบับพิมพ์ครั้งที่6.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์รวมสาส์น.2542.880หน้า
  4.  สมุนไพรแก้ปวดเมื่อย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6922