มะเขือพวง
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะเขือพวง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษTurkey berry, Common Asiatic weed , Prickly nightshade, Devils fig , Shoo-shoo bush, Pea eggplant
  ชื่อวิทยาศาสตร์Solanum torvum Swartz
  ชื่อวงศ์Solanaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะแคว้งกุลา, บ่าแค้วงกุลา (ภาคเหนือ), หมากแข้ง (ภาคอีสาน), มะแว้งช้าง, ลูกแว้ง, เขือน้อย, เขือพวง (ภาคใต้), มะเขือละคร (นครราชสีมา), ปอลอ, ปอลือ จือเปาะลือกู่ (ม้ง), จะเคาะค่ะ, ตะโกงลาโน(มลายู),รับจงกลม(เขมร),จุยเกีย,เจ๊กมิ่งจำ(จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะเขือพวงจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-4เมตร ลำต้นมีหนามห่าง ๆ ลำต้นตั้งแข็งแรงเปลือกมีสีเขียวอมขาว ไม่มีรอยแตก ไม่ผลัดใบ มักจะแตกกิ่งก้านมากตั้งแต่ระดับต่ำจากลำต้น และมีหนามเช่นเดียวกับสำต้น ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกอ่อนนุ่ม 

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ ใบรูปไข่ ขอบใบเป็นพลูกว้าง ฐานใบมนกว้าง ปลายใบแหลม ผิวใบด้านล่างมีขนรูปสามเหลี่ยมบกคลุม เมื่อสัมผัสจะนุ่ม ตัวใบขนาด 3-5 x 4-6 นิ้ว เนื้อใบอ่อนเหนียว เส้นใบแตกแบบขนนกสานกันเป็นร่างแห ดอกเป็นช่อสีขาว มีดอกย่อย 2-15 

ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกตรงตาข้างและยอดกิ่ง ก้านดอกยาวกว่า ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ขณะบานเป็นรูปดาว 5 แฉก 

ผลเป็นผลเดี่ยวเป็นพวงคล้ายมะแว้ง แต่ขนาดใหญ่กว่า รูปกลม ผิวเกลี้ยงสีเขียว กลีบเลี้ยงที่ติดอยู่ไม่มีหนาม ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.3 ซม. ผลสุกสีเหลืองอ่อน เมล็ดมีจำนวนมาก ลักษณะแบน กลม ผิวเรียบ

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนดี 
  • ช่วยให้เจริญอาหาร 
  • ช่วยในการย่อยอาหาร 
  • แก้ปวด ฟกช้ำ ตรากตรำทำงานหนัก กล้ามเนื้อบริเวณเอวฟกช้ำ 
  • แก้ไอเป็นเลือด 
  • แก้ปวดกระเพาะ 
  • รักษาฝีบวมมีหนองและอาการบวมอักเสบ 
  • ช่วยขับเสมหะ 
  • บำรุงธาตุ 
  • ช่วยในระบบขับถ่าย 
  • ใช้พอกเท้าแตกเป็นร่องเจ็บ 
  • ใช้กินแก้เมา ทำให้รสเหล้าจืดลง 
  • แก้โรคเบาหวาน 
  • ขับปัสสาวะ 
  • แก้ปวดฟกช้ำ 
  • แก้พิษแมลงกัดต่อย 
  • ช่วยบำรุงตับ 
  • ช่วยบรรเทาโรคแผลในกระเพาะอาหาร 
  • ช่วยให้ผ่อนคลายง่วงนอน

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ส่วนของต้น, ใบ, ผล ตากแห้งหนัก 10-15 กรัม ใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้ฟกช้ำ แก้ปวดกล้ามเนื้อ แก้ปวดกระเพาะ แก้ฝี และอาการบวมอักเสบรวมถึงช่วยขับเสมหะ 
  • ส่วนของรากใช้ตำพอกส้นเท้าที่แตกเป็นร่อง รากนำมาต้มหรือแช่น้ำดื่ม ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายช่วยขับปัสสาวะ 
  • ลำต้นนำมาบด ใช้ประคบบริเวณแมลงกัดต่อย ทำให้ลดอาการปวดบวม หรือบดให้ละเอียด ใช้ประคบหรือทารักษาแผล 
  • ใบสดนำมาบดหรือขยี้ ใช้ทาประคบแผล ฝี ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว 
  • น้ำต้มจากใบสด นำมาดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ และขับเหงื่อ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. กัญจนา ดีวิเศษและคณะ, ผู้รวบรวม.(2548).ผักพื้นบ้านภาคเหนือ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย. 
  2. รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ .มะเขือพวง จิ๋วแต่แจ๋ว.คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่371 . มีนาคม2553. 
  3. บุญชื่นชัยรัตน์.(2542).แคว้งคลูวา, บ่า.ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ(เล่ม 3, หน้า 1346).กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 
  4. เตือนใจ ไชยศิลป์ และคณะ.(2545).สมุดภาพสมุนไพร : โครงการ "ม่อนยาป่าแดด".กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 
  5. มะเขือพวง.สรรพคุณและการปลูกมะเขือพวง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com 
  6. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.มะเขือพวง.คอลัมน์อื่นๆ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่42.ตุลาคม2525 
  7. ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์.(2547). สารานุกรมผัก: เรื่องวัฒนธรรม โภชนาการและสูตรอาหารของผักนานาชนิด.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: แสงแดด.