กล้วยน้ำว้า
  ชื่อสามัญภาษาไทยกล้วยน้ำว้า
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBanana blossom, Banana, Cultivated banana
  ชื่อที่เกี่ยวข้อง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Musa sapientum Linn, [Musa ABB group (triploid) cv. ‘Nam Wa’]
  ชื่อพ้องM. paradisiaca L.var sapientum (L.) O. Ktzl
  ชื่อวงศ์Musaceae
  ชื่อท้องถิ่นกล้วยใต้ (ภาคเหนือ) กล้วยตานีอ่อง, กล้วยอ่อง (ภาคอีสาน) กล้วยมะลิอ่อง (ภาคตะวันออก), ปิซัง (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย) ซาจิง (ฟิลิปปินส์),เง็กเปาตี (พม่า) ซิกนัมวา (กัมพูชา)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    กล้วยน้ำว้า เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (ลำต้นสูง) 3.0- 4.5 เมตร ลำต้นแท้จะเป็นส่วนหัว (เหง้า)ที่อยู่เหนือดินเล็กน้อย หรือ ฝังอยู่ใต้ดิน เหง้ากล้วยน้ำว้าสามารถแตกหน่อแยกเป็นต้นใหม่ได้ ส่วนลำต้นเหนือดินที่เป็นลำต้นเทียมประกอบด้วยกาบใบ และใบ โดยกาบใบจะแทงออกจากเหง้าเรียงซ้อนกันแน่นเป็นวงกลมจนกลายเป็นลำต้นตามที่มองเห็น แผ่นกาบด้านนอกที่มองเห็นจะมีสีเขียว และมีสีดำประเล็กน้อย กาบใบเป็นแผ่นโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยมีแกนกลางเป็นกาบอ่อนเรียงซ้อนกัน แต่เมื่อกล้วยออกปลี (ดอก) แกนกลางจะกลายเป็นแก่นกล้วยแทน ขนาดของลำต้นเทียมประมาณ 15-25 ซม.ส่วนรากล้วยจะมีเพียงระบบรากแขนงที่แตกออกจากเหง้ากล้วย รากแขนงนี้มีลักษณะเป็นเปลือกหุ้มสีดำ แก่นรากมีสีขาว ขนาดของรากประมาณ 0.5-1 ซม. หรือ ขนาดประมาณเท่านิ้วก้อย

    ใบกล้วยเป็นส่วนที่ถัดจากกาบกล้วย ประกอบด้วยส่วนก้านใบ และใบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-1 เมตร ถัดมาจะเป็นส่วนใบ หรือเรียก ใบตอง ซึ่งเป็นแผ่นเดียวกัน ซ้าย-ขวา ที่ถอดยาวไปจนถึงปลายใบยาว 1.5-2 เมตร แผ่นใบหรือใบตองที่เป็นยอดอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และตั้งตรง เมื่อแก่จะมีสีเขียวสด และก้านใบโน้มลงด้านล่าง แผ่นใบมีลักษณะเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวสด และเป็นมัน ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอมเทา ความยาวของแผ่นใบแต่ละข้างจะยาวเท่ากันประมาณ 25-30 ซม.

    ดอก (ปลี)กล้วยจะแทงออกที่ปลายยอด มีลักษณะเป็นช่อห้อยลง เรียกว่า เครือกล้วย โดยเครือกล้วยประกอบด้วยใบประดับสีแดงหุ้มดอกไว้ เรียกว่า ปลีกล้วย มีลักษณะค่อนข้างป้อมเมื่อเทียบกับปลีกล้วยชนิดอื่น ใบประดับส่วนปลายม้วนงอ แผ่นใบประดับด้านนอกบริเวณส่วนบนมีสีแดงม่วง ส่วนล่างมีสีแดง แผ่นใบประดับด้านในมีสีครีม ส่วนดอกที่อยู่ด้านในจะมีหลายดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นแผง เรียกว่า หวี โดยกล้วยน้ำว้า 1 เครือ จะมีหวีกล้วยประมาณ 7-12 หวี แต่ละหวี มีผลกล้วยประมาณ 10-16 ผล

    ผลกล้วยจะเจริญจากดอก ผลอ่อนมีลักษณะเปลือกผลสีเขียว และเป็นเหลี่ยม ผลห่ามจะมีเหลี่ยมน้อยหรืออวบกลม ไม่มีเหลี่ยม และจะมีสีเขียวอมเทา ส่วนผลสุก เปลือกผลจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

    เนื้อกล้วยที่ถัดจากเปลือกผล เมื่อยังอ่อนจะมีสีขาว เนื้อแน่นเหนียว แต่หากสุกจะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม ให้รสหวาน แต่ไม่ส่งกลิ่นหอมเหมือนกล้วยชนิดอื่น เช่น กล้วยหอม
สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ รสเย็นจืด ปิ้งไฟปิดแผลไฟไหม้ หรือต้มน้ำอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน ตามร่างกาย
  • น้ำยาง รสฝาด น้ำยางจากก้านใบใช้เป็นยาสมานแผล ใช้ห้ามเลือด โดยใช้ยางหยดลงที่บาดแผล
  • ผล มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย
  • ผลดิบ รสฝาด แก้โรคท้องเสีย สมานแผล รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และอาหารไม่ย่อย, ใช้ผงกล้วยดิบโรยรักษาแผลเรื้อรัง แผลเน่าเปื่อย และแผลติดเชื้อต่างๆ
  • ผลสุก รสหวาน ใช้เป็นยาระบายสำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือผู้ที่มีอุจจาระแข็ง บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ดอกหรือหัวปลี    รสฝาด แก้โรคโลหิตจาง บำรุงน้ำนม ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด แก้โรคกระเพาะอาหารลำไส้ และรักษาโรคเบาหวาน น้ำคั้นจากหัวปลี ดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต และถ่ายเป็นมูกเลือด
  • หยวกกล้วย รสฝาดเย็น เผาไฟรับประทานเป็นยาขับพยาธิ
  • เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดเย็น ปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวารชนิดมีเลือดออกหรือรักษาแผลภายในช่องทวาร
  • ราก รสฝาดเย็น ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ท้องเสีย แก้โรคบิด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ สมานแผลภายใน และแก้ผื่นคัน

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(มปป.). Banana, Cultivated banana Musa sapientum L.สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2560, จาก http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=98 6&name=Banana%2C%20Cultivated%20banana
  2. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 48, 131.
  3. ผศ.สุนารี วิทยานารถไพศาล.กล้วย.คอลัมน์ อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 29.สิงหาคม 2524
  4. Pannangpetch P, Vuttivirojana A, Kularbkaew C, et al.  The antiulcerative effect of
  5. พัชรีวัลย์ ปั้นเหน่งเพชร. การศึกษาฤทธิ์ของกล้วยในการป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารของหนูขาว. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543. หน้า 125.
  6. กล้วย.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. Scott WS, McKay HH, Schaffer PS, et al.  The partial purification and properties of antibiotic substances from the banana (Musa sapientum).  Clin Invest 1949;28:866-902.
  8. Lewis DA, Fields WN, Shaw GP.  A natural flavonoid present in unripe plantain banana (Musa sapientum L. var. paradisiaca L.) protects the gastric mucosa aspirin-induced erosions.  J Ethnopharmacol 1999;65(3):283-8.
  9. กล้วยน้ำว้า สรรพคุณ และการปลูกกล้วยน้ำว้า.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อเกษตรกรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  10. Costa R, Antonio MA, Souza brito ARM.  Effects of prolonged administration of Musa paradisiaca L. (banana), an antiulcerogenic substance in rats.  Phytother Res 1997;11(1):28-31.
  11. กล้วยน้ำว้า.สมุนไพรที่มีการใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมุลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Chattopadhyay S, Chandhuri S, Chosal S.  Activation of ulcerogenic acylsterylglycoside from Musa paradisiaca.  Planta Med 1987;52:16-8.
  13. ประโยชน์ของกล้วยที่มีต่อสุขภาพ.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.podpad.com
  14. กล้วยดิบ.ฐานข้อมูลสมุนไพรเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=13