|
ชื่อสามัญภาษาไทย | นมควาย |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Uvaria rufa Blume |
ชื่อวงศ์ | Annonaceae |
ชื่อท้องถิ่น | นมแมวป่า (เชียงใหม่), ติงตัง (นครราชสีมา), สีม่วน (ชัยภูมิ), พีพวน ผีพวนน้อย (อุดรธานี), พีพวนน้อย (ชุมพร), ตีนตั่ง ตีนตั่งเครือ (ศรีษะเกษ, อุบลราชธานี, นครราชสีมา), นมวัว นมควาย บุหงาใหญ่ หมากผีผวน (พิษณุโลก, กระบี่), บุหงาใหญ่ นมแมวป่า หมากผีผ่วน (ภาคเหนือ), หำลิง พีพวนน้อย (ภาคอีสาน), นมแมว นมวัว (ภาคกลาง), นมควาย (ภาคใต้), ลูกเตรียน กรีล (เขมร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์), บักผีผ่วน (ลาว) |
ต้นนมควาย จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นไปได้ไกลประมาณ 5 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีม่วงอมเทา เนื้อไม้แข็ง กิ่งและยอดอ่อนปกคลุมไปด้วยขนละเอียดสีน้ำตาลแดงหนาแน่น แต่ถ้าแก่ไปผิวจะเกลี้ยงและไม่มีขน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดตลอดวัน โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง หรือตามป่าผลัดใบทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปยาวรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลมและเป็นติ่ง โคนใบมนหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีเส้นใบประมาณ 8-15 คู่ หลังใบมีขนรูปดาวแข็ง ส่วนท้องใบมีขนอ่อนนุ่มสีน้ำตาลแดงอยู่หนาแน่น ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น ออกดอกเป็นช่อสั้นตรงข้ามกับใบหรือเหนือซอกใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกประมาณ 2-3 ดอก ช่อดอกยาวประมาณ 1.1-1.5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีขนกระจายอยู่หนาแน่น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น มีใบประดับ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมน ติดอยู่ตรงกลางก้านดอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-13 มิลลิเมตร มีขนอยู่หนาแน่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ กลีบมีลักษณะคล้ายกระดาษและมีขนปกคลุม เชื่อมติดกันที่โคนเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 3 แฉก ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ส่วนที่โคนกว้างประมาณ 5-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 6 กลีบ แยกจากกัน และบางครั้งอาจมีถึง 8 กลีบ โดยแยกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน โดยดอกจะเป็นสีแดงสดแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนกภายหลัง ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ปลายกลีบมนหรือกลม มีขนทั้งสองด้าน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกมักโค้งลงไปทางก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมากอัดกันแน่นประมาณ 30-45 อัน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนและปลายตัด ขอบเรียบ วงนอกมักเป็นหมัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีประมาณ 10-12 อัน เรียงซ้อนเหลื่อมและแยกกันในชั้นนอกสุดของวง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร โคนตัด ปลายกลมหรือมน ส่วนขอบเป็นเยื่อบาง ๆ เป็นจักฟันเลื่อยถี่ มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เกลี้ยง ส่วนเกสรเพศเมียมีประมาณ 7-12 อัน ในแต่ละอันจะมีออวุลประมาณ 20-25 ออวุล ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตรหรือมากกว่าเล็กน้อย และยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนและปลายตัด เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน มีขนขึ้นหนาแน่นตามก้านเกสรเพศเมีย และมีรังไข่เหนือวงกลีบ คาร์เพลแยกจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมและออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ออกผลเป็นกลุ่ม แต่ละช่อผลมีผลย่อยประมาณ 4-20 ผล ผลมีลักษณะกลมรี รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปทรงกระบอก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.7-4 เซนติเมตร ผิวผลย่นและมีขนสีน้ำตาลสั้น ๆ ขึ้นปกคลุม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ก้านผลยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ก้านผลย่อยยาวประมาณ 1.8-2.6 เซนติเมตร เนื้อข้างในผลเป็นสีขาว ในแต่ละผลจะมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 14-18 เมล็ด เมล็ดเรียงตัวกันเป็น 2 แถว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี ปลายมน โคนเว้า ส่วนขอบเรียบ ผิวเมล็ดเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลมัน มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม | |
| |
|