มะแว้งเครือ
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะแว้งเครือ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษMa Waeng Khruea
  ชื่อวิทยาศาสตร์Solanum trilobatum L.
  ชื่อวงศ์Solanaceae
  ชื่อท้องถิ่นแขว้งเคีย (ตาก), มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ), มะแว้ง มะแว้งเถาเครือ (ทั่วไป)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นมะแว้งเครือ จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นกลมเป็นเถามันสีเขียว ตามลำต้นมีหนามแหลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือจากสัตว์ (โดยเฉพาะนก) ที่กินผลแล้วถ่ายเมล็ดออกมา จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง มักขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณที่ราบชายป่า ที่โล่งแจ้ง และบริเวณที่รกร้างริมทาง สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ใบมะแว้งเครือ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเว้า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร หลังใบเรียบมัน ส่วนท้องใบมีหนามตามเส้นใบ

ดอกมะแว้งเครือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 5-12 ดอก ดอกย่อยเป็นสีม่วงอมชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะย่น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน แต่ละดอกมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 ก้าน ส่วนก้านดอกและก้านช่อเป็นสีเขียว

ผลมะแว้งเครือ ออกเป็นช่อคล้ายมะเขือพวง ผลมีลักษณะกลม ผิวผลเรียบเกลี้ยง ผลมีขนาดเล็กกว่าผลของมะเขือพวง หรือมีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีลายเป็นสีขาว ๆ ตามยาว เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ภายในผลมีเมล็ดลักษณะแบน ๆ อยู่หลายเมล็ด ผลมีรสขม

สรรพคุณทั่วไป

  • ลูก แก้ไอเจ็บคอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ เจริญอาหาร แก้เบาหวาน 
  • ราก แก้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอ ขับลม ขับปัสสาวะ 
  • ต้น แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ขับปัสสาวะ 
  • ใบ บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้วัณโรค 
  • ผล แก้ไอ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำบัดโรคเบาหวาน บำรุงน้ำดี บำรุงเลือด

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ทางอาหาร 
  • ผลอ่อน รับประทานสดหรือลวกหรือเผาไฟอ่อนๆ จิ้มน้ำพริก 
ทางยา 
  • ผลสดตำผสมเกลือเล็กน้อย อมหรือจิ้มแก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ 
  • ผลแห้งปรุงยา แก้ไอขับปัสสาวะ เจริญอาหาร แก้โรคเบาหวาน 
  • ราก แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอ กัดเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับลม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “มะแว้งเครือ”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 641-642.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะแว้งเครือ”.  หน้า 191.
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะแว้งเครือ (Ma Waeng Khruea)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 237.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะแว้งเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [18 พ.ค. 2014].
  5. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “มะแว้งเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [18 พ.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “มะแว้งเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/.  [18 พ.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Solanum trilobatum L.”.  อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1, หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [18 พ.ค. 2014].
  8. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 235 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “มะแว้ง : ทั้งต้นและเครือล้วนเชื้อพันธุ์เดิม”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [18 พ.ค. 2014].