ดาดตะกั่ว
  ชื่อสามัญภาษาไทยดาดตะกั่ว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษRedivy, Red flame ivy
  ชื่อวิทยาศาสตร์Hemigraphis alternata (Burm.f.) T.Anderson
  ชื่อวงศ์Acanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นฮ่อมครั่ง (ภาคเหนือ), ฤาษีผสมแล้ว (ไทย), ห่งจี๊อั้ง (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นดาดตะกั่ว เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นเป็นสีแดงและเป็นข้อ ๆ และจะมีความสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและที่ร่ม เจริญเติบโตได้เร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบความชื้นปานกลาง ต้องการน้ำในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ชอบแสงแดด แต่ควรมีร่มเงาบ้าง

    ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบบน ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว แต่ถ้าถูกแดดจัด ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว หรือเมื่อถูกแสงแดดจะเห็นเป็นประกายดูสวยงาม ส่วนท้องใบนั้นจะเป็นสีแดงหรือสีม่วงแดง แผ่นใบมีร่องลึกเป็นร่อง ๆ ตามเส้นใบ

    ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดตรงส่วนยอดของกิ่ง ในแต่ละช่อนั้นจะมีใบประดับเรียงซ้อน ๆ กันเป็นชั้น ๆ มีความยาวประมาณ 2.5-3.75 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาว ตัวดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวยหรือรูปถ้วยเล็ก ๆ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายดอกแยกเป็นแฉก 5 แฉก ทรงดอกยาวได้ประมาณ 0.5 นิ้ว

    ดาดตะกั่วเป็นพรรณไม้ที่มีผล แต่ตามที่ทราบมาในประเทศไทยยังไม่พบว่าติดผล โดยผลเป็นผลแห้งและแตกได้ มีขนาดประมาณ 1.25 เซนติเมตร สีขาว   

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบใช้เป็นยาแก้บิด
  • ใบดาดตะกั่วมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่ว เนื่องจากใบจะมีสาร Potassium salt อยู่มาก ซึ่งสารชนิดนี้จะเป็นตัวช่วยขับปัสสาวะได้ดีมาก
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร
  • ในประเทศมาเลเซียจะใช้ต้นนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด
  • ต้นใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ดาดตะกั่ว”.  หน้า 285-286.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ดาดตะกั่ว”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [29 ส.ค. 2014].