เถาวัลย์แดง
  ชื่อสามัญภาษาไทยเถาวัลย์แดง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Toxocarpus villosus (Blume) Decne.
  ชื่อพ้องSecamone villosa Blume
  ชื่อวงศ์Apocynaceae
  ชื่อท้องถิ่นอบเชยเถา (กรุงเทพฯ), เถาวัลย์แดง (ราชบุรี), เครือซุด (เลย), เครือมะแตก (ภาคเหนือ), เครือไซสง เครือไพสง เครือไพสงแดง (ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น) และมีชื่อทางการค้าว่า "โสรยา"
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เถาวัลย์แดง เป็นไม้เลื้อยล้มลุก อายุหลายปี ยาว 3-10 ม. ลำต้น ทุกส่วนเมื่อเกิดแผลจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น ตามกิ่งอ่อน ก้านใบ และช่อดอกมีขนสั้นสีสนิมหนาแน่น 

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปรีหรือรีกว้าง ยาว 5-12 ซม. ปลายใบแหลมหรือหยักคอดเป็นติ่งสั้น โคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขนสีสนิม เนื้อใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ 6-8 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันชัดเจน-ไม่ชัดก้านใบ ยาว 1-1.5 ซม. 

ดอก ช่อดอกแบบแยกแขนง ยาว 4-10 ซม. ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีเขียว รูปใบหอก ยาว 3 มม. กลีบดอกด้านในสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น สีขาว ยาว 3-5 มม. กว้าง 4 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปใบหอก ยาว 0.8-1 ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบไม่มีขน ที่โคนกลีบมีขนยาว กลีบบิดเวียนซ้าย 

ผลเป็นฝักคู่หรือเดียว รูปทรงกระบอก ยาว 10-18 ซม. กว้าง 1 ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นหนาแน่น ฝักแก่แห้งแตก มีเมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ ยาว 1 ซม. ที่ปลายด้านหนึ่งมีพู่ขนสีขาว ยาว 2 ซม.

สรรพคุณทั่วไป

  • ยางทารักษาแผลที่ริมฝีปาก แผลภายในช่องปาก 
  • เถาเข้ายาอื่นๆ ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ. 
  2. https://www.siamplants.com/2022/04/toxocarpus-villosus.html