เถาคันขาว
  ชื่อสามัญภาษาไทยเถาคันขาว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษTrue Virginia creeper , Virginia creeper , Victoria creeper , Five-leaved ivy , Five-finger
  ชื่อที่เกี่ยวข้องเครือพัดสาม, เถาคัน
  ชื่อวิทยาศาสตร์Parthenocissus quinquefolia Planch.
  ชื่อพ้องCayratia trifolia (Linn.)Domin
  ชื่อวงศ์Vitaceae
  ชื่อท้องถิ่นเถาคันขาว , หุนแปขาว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) , เครือหุนแป , เครือพัดสาม , ส้มเขาคัน
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นเถาคันขาว เป็นไม้เลื้อย เรือนยอดทรงพุ่ม รูปไข่ มีความสูง 15 เมตร ความกว้าง 4 เมตร อาศัยอยู่บนบก ลำต้นตั้งตรงเองไม่ได้ ใช้ลำต้นเกี่ยวพัน เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ไม่มียาง 

ใบเถาคันขาว เป็นใบประกอบ แบบนิ้วมือ สีเขียว จำนวนใบย่อย 3 ใบ ขนาดแผ่นใบย่อย กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 7.2 เซนติเมตร ลักษณะพิเศษของใบ มีขนสีขาวเล็กๆที่บริเวณใบ การเรียงตัวของใบ บนกิ่งแบบสลับ รูปร่างแผ่นใบเป็นแบบรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมน 

ดอกเถาคันขาว เป็นช่อกระจุกแตกแขนง ตำแหน่งที่ออกดอกบริเวณซอกใบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก สีเขียว กลีบดอกมีขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก สีขาว รูปคนโฑ รูปโถ เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย มีขนาดเล็กมาก ไม่มีกลิ่น รังไข่เหนือวงกลีบ 

ผลเถาคันขาว ผลเดี่ยวมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีของผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สี ม่วงเข้ม รูปร่างผลกลม จำนวน 2-4 เมล็ด สีของเมล็ด สีดำ รูปร่างเมล็ดกลมแป้น

สรรพคุณทั่วไป

  • เถา ต้มกินเป็นยารักษาโรคกษัย(การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย)ทำให้เส้นหย่อน เป็นยาขับลม ขับเสมหะ เป็นยาฟอกเลือด รักษาอาการฟกช้ำจากภายใน แก้ลมวิงเวียนหน้ามืด ขับเสมหะลงสู่ทวารหนัก 
  • ใบ รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน พอกรักษาแผลในจมูก ทาถูนวดให้ร้อนแดงแก้ปวดเมื่อย หรืออังไฟปิดฝี ถอนพิษปวดบวม 
  • รากใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน ช่วยขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่ว ใช้เป็นยาฟอกโลหิต ช่วยแก้ฟกซ้ำ ช่วย ขับเลือดเสีย ช่วยขับน้ำคาวปลา 
  • ผลอ่อนแก้กระษัย ขับลม ฟอกเลือด แก้ฟกช้ำภายใน แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ขับเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน ตำพอกฝี แก้แผลในจมูก ถอนพิษปวดบวม

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ผลอ่อน - ต้มน้ำดื่มหรือรับประทาน 
  • ราก - ต้มน้ำดื่ม ใบ -ใช้ทาหรือประคบภายนอก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เถาคัน”.  หน้า 341-342.
  2. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “เถาคันแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.  [13 ก.ค. 2015].
  3. พืชพิษ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “รายงานการเกิดพิษในคน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm.   [13 ก.ค. 2015].
  4. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เถาคันขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th.  [13 ก.ค. 2015].