หางไหลแดง
  ชื่อสามัญภาษาไทยหางไหลแดง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษDerris , Tuba Root
  ชื่อวิทยาศาสตร์Derris elliptica (Roxb.) Benth.
  ชื่อวงศ์Leguminosae
  ชื่อท้องถิ่นโล่ติ๊น, หางไหล (ภาคกลาง), ไหลน้ำ, เครือไหลน้ำ (ภาคเหนือ), อวดน้ำ (สุราษฎร์ธานี), กะลำเพาะ (เพชรบุรี), โพตะโกส้า (กะเหรี่ยง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หางไหลแดงจัดเป็นไม้เถา เนื้อแข็ง เถาหรือลำต้นมีลักษณะกลม โดยเถาที่แก่จะมีสีน้ำตาลปนแดง ส่วนเถาอ่อนและบริเวณเถาใกล้ๆปลายยอดจะมีสีเขียวซึ่งจะเห็นได้ชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง 

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงสลับ ยาว 22.5-37.5 ซม.โดยจะมีใบย่อยสีเขียว 9-13 ใบ แต่ส่วนมากจะพบ 9 ใบ โดยใบจะเกิดเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ซึ่งใบคู่แรก (นับจากโคนก้านใบ) จะมีขนาดเล็กที่สุดและเริ่มใหญ่ขึ้นเป็นลำดับจนถึงใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดจะเป็นใบเดี่ยว ซึ่งมีขนาดของใบใหญ่ที่สุดลักษณะของใบจะเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 7.5-15 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ พื้นใบด้านบนเป็นสีเขียวมัน มองเห็นเส้นแขนงลักษณะด้านท้องใบมีสีเขียวและเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน ใบอ่อนและยอดอ่อนจะมีสีน้ำตาลแดงและปกคลุมไปด้วยขนสั้นๆ 

ดอกออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ลักษณะคล้ายดอกแคฝรั่งซึ่งช่อดอกแต่ละช่อมีความยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างเป็นรูปโล่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูประฆัง กลีบเลี้ยงยาวได้ถึงประมาณ 6 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีชมพูอมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อนและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว 

ผลออกเป็นฝักลักษณะแบนรูปขอบขนานปลายแหลม กว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 3.5-8.5 เซนติเมตร ตะเข็บบนจะแผ่เป็นปีก ฝักอ่อนมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่ และปริแตกเมื่อฝักแห้ง ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมแบนเล็กน้อย 1-4 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • เป็นยาขับประจำเดือนสตรี 
  • แก้ระดูเป็นลิ่มหรือก้อน 
  • เป็นยาขับลม 
  • ช่วยบำรุงโลหิต 
  • ช่วยขับระดู 
  • ช่วยลดเสมหะ 
  • ถ่ายเส้นเอ็นทำให้เอ็นหย่อน 
  • ใช้รักษาหิดเหาและเรือดตามเส้นผม

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้ขับลม ขับเสมหะ บำรุงโลหิต ขับระดู ถ่ายเส้นเอ็นทำให้เส้นเอ็นหย่อน โดยใช้เถาหางไหลแดงหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากให้แห้งแล้วนำมาดองกับเหล้าโรงกินเป็นยาวันละ 1 ครั้ง 
  • ใช้รักษา หิด เหา โดยใช้เถาสดยาว 2-3 นิ้วฟุต ตำให้ละเอียดผสมน้ำมันพืช ชะโลมบนเส้นผมทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง จึงสระให้สะอาด โดยควรสระติดต่อกัน 2-3 วัน 
  • ใช้ขับประจำเดือนแก้ระดูเป็นลิ่มหรือเป็นก้อน โดยใช้เถาหรือรากของหางไหลแดงผสมกับตัวยาอื่นๆในตำรับยาท้องถิ่นต่างๆ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.  “หางไหลแดง”.  หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  หน้า 192.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด.2522.หางไหลแดงและหางไหลขาว ไม้เทศ-เมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย.หน้า557-558.
  3. หางไหลแดง-โล่ติ๊น .เอกสารวิชาการกรมวิชาการเกษตร.กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.114หน้า
  4. เฉลิม เนตรศิริ.2526.มาปลูก....ไล่ดิ้น หรือหางไหลแดงไว้ฆ่าแมลงกันดีไหม.ชาวเกษตร.ฉบับที่28 ประจำเดือนกันยายน หน้า 3-15.
  5. ชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โล่ติ๊น Tuba Root/Derris”.  หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขหน้า 100.
  6. วินัย ปิติยนต์.อารมย์ แสงวนิชย์.2539 “การศึกษาสารสกัดจากหางไหลเพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช” The second conference of Agricultural Toxic Substances Division 84-92.
  7. หางไหลแดง ,พญาวานร .กลุ่มสมุนไพรไล่ยุงหรือฆ่าแมลง.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด .โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_25_3.htm.
  8. ข้อมูลสมุนไพร.กระดาษถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.megplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6082
  9. หางไหล/โล่ติ๊นประโยชน์และสรรพคุณหางไหล.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com