แก่นตะวัน
  ชื่อสามัญภาษาไทยแก่นตะวัน
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษJerusalem artichoke, Sunchoke, Sunroot
  ชื่อวิทยาศาสตร์Helianthus tuberosus L.
  ชื่อวงศ์Annonaceae
  ชื่อท้องถิ่นแห้วบัวตอง ทานตะวันหัว , มันทานตะวัน , โทปินัมเบอร์ (ฝรั่งเศส) , กิราโซล (อิตาลี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     แก่นตะวันจัดเป็นพืชประเภทล้มลุก มีอายุสั้น ประมาณ 120-180 วัน มีลำต้นเหนือดินลักษณะกลม เปลือกลำต้นมีสีม่วงเข้ม มีขนยาวแข็ง ขนาดลำต้นประมาณ 1-3 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.5-2เมตร ส่วนลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัว เป็นลำต้นสะสมอาหาร หัวมีลักษณะแบ่งเป็นแง่งยาว และเป็นตะปุ่มตะป่ำเป็นแนวยาว ตามความยาวของหัว เปลือกบาง มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาวกรอบ ขนาดหัวประมาณ 2-6 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 6-20 เซนติเมตร ส่วนรากเป็นรากแขนงที่แตกออกบริเวณโคนต้น

    ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามสลับฉากกัน แต่ละใบมีก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก กว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฐานใบรูปสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ เนื้อใบบาง ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบทั้งด้านบน และด้านล่างมีขนสั้นแข็งปกคลุม แผ่นใบมีเส้นแขนงใบ 6-9 เส้น

    ดอกเป็นช่อ มีก้านช่อดอกหลัก ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากนั้นแตกก้านดอกย่อยออก แต่ละดอกมีขนาด 6-8 เซนติเมตร ลักษณะเป็นทรงกลมแบน ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีสีเหลือง คล้ายกับดอกทานตะวันหรือบัวตองแต่เล็กกว่า

    ส่วนผลแก่นตะวันมักเรียกเป็นเมล็ด มีลักษณะมีรูปลิ่มคล้ายเมล็ดดาวเรือง ปลายเรียวยาว เปลือกผลมีสัน 4 สัน สีน้ำตาลอ่อน มีลายสีน้ำตาล และมีขนสั้นแน่นปกคลุม ขนาดผลกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ด้านในเป็นเนื้อเมล็ด 1 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยลดน้ำหนัก
  • ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยลดคอเรสเตอรอลสูง
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ท้องผูก
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยระบบขับถ่าย
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยขับสารพิษ
  • ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย
  • ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้
  • ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • แก่นตะวันสามารถนำมาบริโภคสด ๆ เป็นของว่างหรืออาจนำมาใช้ประกอบอาหารคาว-หวาน เพื่อใช้รับประทาน และอาจนำมาฝานเป็นแผ่นตากแห้งเพื่อทำชา
  • แก่นตะวันหรือบดเป็นผงชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้ แต่ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นสารสกัด หรือผงแป้ง แก่นตะวันเพื่อจำหน่าย เช่นกัน สำหรับรูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ที่เป็นแผ่นอบนั้นยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจน เพียงแต่มีข้อมูลจาก European Food Safety Authority ระบุว่าขนาดที่แนะนำให้รับประทานแก่นตะวันเพื่อเพิ่มปริมาณพรีไบโอติคในลำไส้ คือ รับประทานสารสกัด 135 มก./วัน หรือเทียบเท่าหัวสด 297-594 มก.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สุริยา ทุดปอ, จิตรา สิงห์ทอง, สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระของแก่นตะวัน ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวต่างกัน.วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.ปีที่19 .ฉบับที่3.กันยายน-ธันวาคม 2560.หน้า 45-57
  2. วิรงค์รัตน์ พิมพ์แสน. 2553. ปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับ-สภาพแวดล้อมของลักษณะผลผลิตแก่นตะวัน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  3. เอกภพ สินงาม.การศึกษาคุณสมบัติความเป็นพรีไบโอติกของฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่ได้จากแก่นตะวัน.วิทยานิพนธ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยศิลปกร ปีการศึกษา 2555.
  4. https://www.disthai.com/17049606/แก่นตะวัน