มะเม่า
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะเม่า
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษMaoberry
  ชื่อที่เกี่ยวข้องหมากเม่า
  ชื่อวิทยาศาสตร์Antidesma puncticulatum Miq.
  ชื่อพ้องAntidesma bunius var. thwaitesianum (Müll.Arg.) Trimen, Antidesma thwaitesianum Müll.Arg.)
  ชื่อวงศ์Phyllanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นหมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ), หมากเม่า (ภาคอีสาน), มะเม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง), เม่า, เม่าเสี้ยน, หมากเม่าหลวง, มะเม่าหลวง, มัดเซ เป็นต้น
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นมะเม่า เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม สูงประมาณ 5-10 เมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 4 คนโอบ และมีเนื้อไม้แข็ง มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามหัวไร่ปลายนาทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดกาญจนบุรีจะมีต้นมะเม่าในป่าเป็นจำนวนมาก และมะเม่ายังเป็นผลไม้ท้องถิ่นของภาคอีสาน ในเทือกเขาภูพานของจังหวัดสกลนครอีกด้วย 

ใบมะเม่า เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี 

ดอกมะเม่า ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกคล้ายพริกไทย ลักษณะของดอกเป็นดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และสุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 

ผลมะเม่า ลักษณะของผลเป็นทรงกลม ผลมีขนาดเล็กและเป็นพวง ผลดิบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด เมล็ดกรุบกรับ ในหนึ่งผลจะมีหนึ่งเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้อาการซีดเหลือง เลือดไหลเวียนไม่ดี โลหิตจาง
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ท้องบวม
  • แก้ฟกช้ำดำเขียว
  • แก้รักษาฝี
  • แก้รังแค
  • เป็นยาระบาย
  • แก้ช่องท้องบวม
  • แก้อาการไข้
  • บำรุงไต
  • ขับปัสสาวะ
  • ขับโลหิต
  • ขับน้ำคาวปลา
  • แก้กษัยเส้นเอ็นพิการ
  • แก้มดลูกพิการ
  • แก้ตกขาว
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้ซางเด็ก

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ต้นแก้กระษัย แก้ตกขาว ขับเลือด น้ำคาวปลา
  รากแก้กระษัย แก้ตกขาว ขับเลือด น้ำคาวปลา
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่วยฟอกโลหิต ขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบาย บำรุงสายตา โดยนำผลสุกมารับประทานสด หรือนำไปแปรรูปรับประทานก็ได้ 
  • ใช้บำรุงกำลัง บำรุงไต แก้กษัย เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขับเสมหะ ขับโลหิต ขับน้ำคาวปลา แก้มดลูกพิการ แก้ซางในเด็ก โดยการนำเปลือกต้นและรากมาต้มน้ำดื่ม 
  • ใช้แก้โลหิตจาง แก้อาการซีดเหลือง ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำอาบ 
  • แก้อาการฟกช้ำดำเขียวโดยการนำไปอังไฟแล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็น 
  • ใช้รักษาแผลฝีหนองโดยนำใบสดมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. กรมส่งเสริมการเกษตร
  2. กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
  3. สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  5. กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการงานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  6. กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกองโภชนาการ สถาบันราชมงคลจังหวัดสกลนคร