บานไม่รู้โรย
  ชื่อสามัญภาษาไทยบานไม่รู้โรย
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGlobe Amaranth , Bachelor Button
  ชื่อวิทยาศาสตร์Gomphrena globosa Linn.
  ชื่อวงศ์Amaranthaceae
  ชื่อท้องถิ่นตะล่อม (ภาคเหนือ) , ดอกสามเดือน , กุนหยี (ภาคใต้) , สามปีบ่เหี่ยว (ภาคอีสาน) , โขยหยิกแป๊ะ (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บานไม่รู้โรยมีลำต้น สูงประมาณ 15-60 ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือโคนต้นอาจจะเอนราบกับดิน ที่ข้อของต้นจะพอกออกเล็กน้อย และเกิดรากตามข้อ ลำต้นมักจะมีข้อสีแดงหรือบางต้นมีสีเขียว กิ่งอ่อน ๆ มีขนอยู่ทั่วไป 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะใบรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานหรือ รูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ตัวใบมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบกว้าง ก้านใบยาว แต่ใบคู่ยอดที่ติดกับดอกจะไม่มีก้าน 

ดอก ออกเป็นกระจุกกลม ๆ ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ มากมาย อยู่บนก้านช่อดอก ออกเดี่ยว ๆ หรือ บางครั้งก็ออกเป็นกลุ่ม 2-4 กระจุก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.75-2.25 ซม. มี 3 สี คือ ขาว ชมพู และม่วงแดงเข้ม ออกดอกตามซอกใบใกล้ยอด แต่ละดอกมีใบประดับ 2 ใบ กลีบรวมมี 5 กลีบ ออกดอกตลอดปี 

ผล ลักษณะรูปไข่แกมขอบขนาน มีเปลือกบาง ขนาดเล็ก ยาวเพียง 2-5 มม. เมล็ดแบน สีน้ำตาล เป็นมัน



สรรพคุณทั่วไป

  • ราก รสเย็นขื่น แก้โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับระดู รักษาโรคบิดและอาการไอ 
  • ทั้งต้น รสขื่นเล็กน้อย ต้มเอาน้ำดื่มแก้หนองใน กามโรค ขับปัสสาวะ นิ่ว และแก้ระดูขาว 
  • ช่อดอก รสจืด สุขุม ใช้กล่อมตับ แก้ตาเจ็บ แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ปวดศีรษะ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • แก้หอบหืด บิดมูก โดยใช้ดอกสด 15-20 ดอก ล้างให้สะอาดต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง แล้วกรองเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว หรือ 200 ซีซี 
  • ขับปัสสาวะ นิ่ว แก้โรคหนองใน โดยใช้ต้นสดชนิดดอกสีขาวทั้งต้น 100 กรัม ล้างให้สะอาดต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร นานประมาณ 10-15 นาที กรองเอาน้ำดื่ม วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “บานไม่รู้โรย (Ban Mai Ru Roy)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 164.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “บานไม่รู้โรยดอกขาว”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 425-426.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “บานไม่รู้โรยดอกขาว”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 306.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “บานไม่รู้โรยดอกขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 เม.ย. 2014].
  5. กรุงเทพธุรกิจ.  “สีสมุนไพร…บำบัดอารมณ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [02 เม.ย. 2014].
  6. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “บานไม่รู้โรย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th. [02 เม.ย. 2014].
  7. การผลิตไม้กระถางและไม้ตัดดอก (PRODUCTION OF POT-PLANTS AND CUT-FLOWERS), ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “บานไม่รู้โรย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/index.htm. [02 เม.ย. 2014].
  8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “บานไม่รู้โรย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [02 เม.ย. 2014].
  9. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 288 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “บานไม่รู้โรย : ความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [02 เม.ย. 2014].
  10. สำนักแชลั้ง.  “ต้นไม้มงคล ภาค1”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sumnakcharang.com. [02 เม.ย. 2014].
  11. ตำรับยาไทยแผนโบราณ สำหรับโรคเรื้อรัง โดย หมอเมือง สันยาสี.
  12. หนังสือเพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร.  (พฤฒาจารย์ วิพุธโยคะ รัตนรังษี และคณะ).