กะทกรก ชื่อสามัญภาษาไทย | กะทกรก | ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ | Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking passion flower | ชื่อวิทยาศาสตร์ | Passiflora foetida L. | ชื่อวงศ์ | Passifloraceae | ชื่อท้องถิ่น | ผักขี้หิด (เลย), รุ้งนก (เพชรบูรณ์), เงาะป่า (กาญจนบุรี), เถาเงาะ เถาสิงโต (ชัยนาท), ยันฮ้าง (อุบลราชธานี), เยี่ยววัว (อุดรธานี), ผักบ่วง (สกลนคร), หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), เครือขนตาช้าง (ศรีษะเกษ), ตำลึงฝรั่ง ตำลึงทอง ผักขี้ริ้ว ห่อทอง (ชลบุรี), รกช้าง (ระนอง), หญ้ารกช้าง (พังงา), ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ), รก (ภาคกลาง), กระโปรงทอง (ภาคใต้), ละพุบาบี (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี), ผักแคบฝรั่ง (ขมุ), มั้งเปล้า (ม้ง), หล่อคุ่ยเหมาะ(กะเหรี่ยงแดง), เล่งจูก้วย เล้งทุงจู (จีน), รังนก, กะทกรกป่า | | | ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ |
ต้นกะทกรก จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุประมาณ 2-5 ปี มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน และทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบ
มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัว ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก แผ่นใบมีขนสีน้ำตาลขนาดเล็กขึ้นทั้งสองด้าน และที่ขนมีน้ำยางเหนียว
ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกมีกลีบดอก 10 กลีบ กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบด้านในเป็นสีขาว มีกระบังรอบเป็นเส้นฝอยมีสีขาวโคนม่วง ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกเป็นเส้นฝอย ดอกมีก้านชูเกสรร่วม แยกเป็นเกสรตัวผู้ประมาณ 5-8 ก้าน ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีประมาณ 3-4 ก้าน รังไข่เกลี้ยง
ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีส้ม และมีใบประดับเส้นฝอยคลุมอยู่ ภายในผลมีเนื้อหุ้มเมล็ดใสและฉ่ำน้ำ (คล้ายกับเมล็ดแมงลักแช่น้ำ) มีรสหวานแบบปะแล่ม ๆ และจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
| สรรพคุณทั่วไป |
- เปลือกใช้เป็นยาชูกำลัง
- เนื้อไม้ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกาย ส่วนเถาใช้เป็นยาธาตุ
- รากสดหรือรากตากแห้งใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา จะช่วยทำให้สดชื่น
- ผลดิบมีรสเมาเบื่อ ส่วนผลสุกมีรสหวานเย็น ช่วยบำรุงปอด
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ
- เนื้อไม้ช่วยถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด
- รากช่วยแก้ความดันโลหิตสูง
- แพทย์ชาวเวียดนามใช้ใบเป็นสงบระงับ ระงับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม (ต่อวัน) นำมาต้มกับน้ำกิน
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบนำมาตำใช้พอกหรือประคบที่ศีรษะ
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น
- ใบใช้ตำพอกศีรษะ ช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูก
- ดอก ใบ และทั้งต้นช่วยแก้อาการไอ (ใบ, ดอก, ต้น, ทั้งต้น)
- ใบ และทั้งต้นช่วยขับเสมหะ
- เมล็ดใช้แก้เด็กที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำส้มและรมควันให้อุ่น แล้วเอาไปทาท้องเด็ก
- ใบนำมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาเบื่อและยาขับพยาธิ
- ดอก ใบ และทั้งต้นมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
- เถาและรากสดใช้ต้มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น
- รากช่วยแก้กามโรค
- เนื้อไม้ ใบ และผลช่วยรักษาบาดแผล และเถาใช้เป็นยาพอกรักษาแผล
- ใบใช้ตำพอกฆ่าเชื้อบาดแผล
- เปลือกใช้ตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
- เปลือกช่วยทำให้แผลเน่าเปื่อยแห้ง
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพอสมควร นำมาทาวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการคัน แก้หิด แก้หืด
- ผลช่วยแก้อาการปวด
- ใบ และทั้งต้นช่วยแก้อาการบวม แก้อาการบวมที่ไม่รู้สาเหตุ
- ช่วยแก้อาการเหน็บชา โดยนำมาสับตากแดด แล้วนำมาต้มกิน
- ใบนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้พอกรักษาสิว
| | | แหล่งข้อมูลอ้างอิง |
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กะทกรก Ka Thok Rok“. หน้าที่ 42.
- ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะทกรก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [8 ม.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กะทกรก“. (ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
- ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “กะทกรก“. (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กะทกรกป่า“. (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [8 ม.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กะทกรก“. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [8 ม.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “กะทกรก“. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [8 ม.ค. 2014].
- มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยกะทกรก“. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “กะทกรก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [8 ม.ค. 2014].
- โครงการฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “กะทกรก ตำลึงทอง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนทุ่งโพวิทยา. “กระทกรก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: botany.hostzi.com. [8 ม.ค. 2014].
|
|