พิมเสนต้น
  ชื่อสามัญภาษาไทยพิมเสนต้น
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPatchouli, Patchoulli, Patchouly
  ชื่อวิทยาศาสตร์Pogostemon cablin (Blanco) Benth.
  ชื่อพ้องPogostemon patchouli var. suavis (Ten.) Hook. f.
  ชื่อวงศ์Lamiaceae
  ชื่อท้องถิ่นใบพิมเสน, ผักชีช้าง, ใบหลม ใบอีหรม (ภาคใต้), ฮั่วเซียง ก่วงฮั่วเซียง (จีนกลาง)
 
 
สรรพคุณทั่วไป

  • ตำรับยาแก้อาการปวดศีรษะ ตัวร้อน มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ให้ใช้ยาแห้ง แปะตุ๊ก หกเหล็ง เปลือกลูกหมาก อย่างละ 10 กรัม และกิ๊กแก้ จี่โซว ชะเอม ปั่วแฮ เกาโพ๊ก และโกฐสอ อย่างละ 7 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดรวมกันเป็นผงทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทานก็ได้ (ทั้งต้น)
  • ตำรายาไทยจะใช้ใบเป็นยาลดไข้ ใช้ปรุงเป็นยาเย็น แก้ไข้ทุกชนิด ช่วยถอนพิษร้อน ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยมากใช้ปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ ยาจันทลีลา ตำรับยาของทางล้านนา และยาหอมก็เข้าใบพิมเสนต้นนี้ (ใบ)
  • ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาลดไข้ แก้หวัดแดด ตัวร้อน มีน้ำมูกไหล จมูกอักเสบ (ทั้งต้น)
  • ใช้เป็นยาขับลม ขับลมชื้น (ทั้งต้น)
  • ผงจากใบใช้เป็นยานัตถุ์และเป็นยาทำให้จาม (ใบ)
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย อาเจียน ช่วยในการย่อยอาหาร ตำรับยาแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ด้วยการใช้ยาแห้ง แปะตุ๊ก หกเหล็ง เปลือกลูกหมาก อย่างละ 10 กรัม และกิ๊กแก้ จี่โซว ชะเอม ปั่วแฮ เกาโพ๊ก และโกฐสอ อย่างละ 7 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดรวมกันเป็นผงทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทานก็ได้ (ทั้งต้น)
  • ส่วนยาชงจากยอดแห้งและรากแห้งก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในทางเดินอาหารได้เช่นกัน (ยอด, ราก)
  • ยาชงจากยอดแห้งและรากแห้งของพิมเสนต้นใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะติดขัด (ยอด, ราก)
  • ใบสดนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นยาขับประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (ใบ)
  • หากเป็นโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ให้ใช้ต้นแห้งผสมกับโกฐน้ำเต้าและสารส้มสะตุ อย่างละ 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำ นำมาใช้ชำระผิวหนังบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)
  • ต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้น้ำกัดเท้า (ทั้งต้น)
  • น้ำมันของพิมเสนต้นในทางยาใช้ทาแก้ปวดได้ (น้ำมันพิมเสนต้น)

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “พิมเสนต้น”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 388. 
  • หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พิมเสนต้น”.  หน้า 170.
  • สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พิมเสนต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [06 พ.ค. 2014]. 
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “พิมเสนต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [06 พ.ค. 2014].
  • ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).  “พิมเสนหนาด”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th.  [06 พ.ค. 2014].
  • ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (ผศ.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์).  “พิมเสน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2548/07-48/borneol.pdf.  [06 พ.ค. 2014].
  • https://medthai.com/พิมเสนต้น/