แสยก
  ชื่อสามัญภาษาไทยแสยก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษSlipper flower, Redbird Cactus, Jew-Bush
  ชื่อวิทยาศาสตร์Euphorbia tithymaloides L.
  ชื่อพ้องEuphorbia tithymaloides L.
  ชื่อวงศ์Euphorbiaceae
  ชื่อท้องถิ่นนางกวัก, ว่านสลี (แม่ฮ่องสอน), ว่านจะเข็บ (คนเมือง), เคียะไก่ไห้ (ภาคเหนือ), กะแหยก แสยกสามสี มหาประสาน ย่าง (ภาคกลาง), แสยกลาย มหาประสาน (ทั่วไป), ตาสี่กะมอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หงเชี่ยซานหู ยวี่ใต้เกิน (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นแสยก จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 60-100 เซนติเมตร ลำต้นกลมและคดงอ หรือหักงอไปมาทำให้เป็นรูปซิกแซก ลำต้นเป็นสีเขียว ผิวเรียบ เนื้ออ่อนนิ่มและฉ่ำน้ำ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-12 มิลลิเมตร ภายในมียางสีขาวคล้ายกับน้ำนม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำต้น พบปลูกได้ทั่วไป เพราะเป็นพืชในเขตร้อน สามารถปลูกได้ในดินทุกสภาพ ทนความแล้งได้ดี และเจริญเติบโตได้ทั้งในที่มีแสงแดดจัดและในที่ร่มรำไร

    ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับซ้ายขวาในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบหรือมีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวมีลายสีขาว เนื้อใบหนา ด้านล่างมีขนอ่อน ๆ เส้นเล็ก ขึ้นปกคลุมอยู่บาง ๆ ทั่วไป เส้นกลางใบนูนขึ้น ส่วนเส้นใบมองเห็นได้ไม่ชัด ก้านใบยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร หูใบมีลักษณะเป็นตุ่มกลมเล็ก ๆ 2 ตุ่ม โดยจะอยู่ตรงสองข้างของโคนก้านใบ ร่วงได้ง่าย และต้นจะสลัดใบทิ้งหมดหรือเกือบหมดก่อนที่จะออกดอก

    ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ตามกิ่งแขนงสั้น ๆ ใกล้ยอด หรือตามลำต้น ดอกเป็นสีม่วงหรือสีแดง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ก้านช่อยาวประมาณ 3-20 มิลลิเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ใบประดับด้านนอกมีขนสั้นขึ้นปกคลุมหนาแน่น แต่ก้านดอกไม่มีขน ดอกมีลักษณะคล้ายกับเรือหรือรองเท้า มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงกันเป็น 2 ชั้น โดยกลีบชั้นในจะมีกลีบ 3 กลีบ มีขนาดสั้นและแคบกว่ากลีบชั้นดอก มีขนละเอียด ที่ฐานดอกมีต่อมน้ำหวานลักษณะเป็นรูปกระทะคว่ำ 1 ต่อม ด้านในมีต่อม 2 ต่อม หรือ 4 ต่อม กันเป็นคู่ ที่ปลายมีแถบยาวหนึ่งแถบอยู่ตรงช่องระหว่างกลีบใหญ่ชั้นนอกสองกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ตรงใจกลางดอก เกสรเพศผู้สั้น ดอกที่กำลังบานอับเรณูจะหันหน้าออก มีรังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนช่องละ 1 หน่วย ท่อรับไข่มี 1 อัน ปลายท่อแยกเป็น 3 แฉก แต่ละอันเป็น 2 แฉก

    ผลเป็นชนิดที่แห้งแล้วจะแตก

สรรพคุณทั่วไป

  • ทั้งต้นมีรสเปรี้ยวฝาด มีพิษเล็กน้อย เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาภายนอก มีสรรพคุณช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้พิษ
  • ใบและยอดใช้เป็นยาสมานแผลห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี โดยใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ส่วนคนเมืองจะใช้น้ำยางจากต้นนำมาทาแผลที่โดนมีดบาด จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ยอดสดใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
  • ยอดสดใช้ตำพอกเป็นยาแก้พิษแมลงกัดต่อย พิษตะขาบกัด แมงป่องต่อย น้ำยางสดจากต้นใช้ทาช่วยกัดหูด โดยนำน้ำยางสีขาวไปทาโดยตรงบนหัวหูด และให้ทาบ่อย ๆ หูดก็จะค่อย ๆ หายไปเอง (แต่ถ้านำน้ำยางมากินจะทำให้อาเจียน)
  • หากเป็นฝีหนองอักเสบภายใน ให้ใช้ต้นสด โถวหงู่ฉิก, หน่ำจั่วเต็ก อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ต้นสดใช้ตำพอกแก้ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว กระดูกร้าว

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “แสยก”. หน้า 564.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Slipper flower”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “แสยก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [15 มิ.ย. 2014].
  4. นายยงยุทธ นิลรัตน์ (นวส.ชํานาญการ สนง. อําเภอลาดบัวหลวง). “แสยก กําจัดศัตรูพืชในนาข้าว”.