ผักเสี้ยนผี ชื่อสามัญภาษาไทย | ผักเสี้ยนผี | ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ | Stining cleome, Wild caia ,yellow cleome, tickweed | ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cleome viscosa L. | ชื่อพ้อง | Arivela viscosa (L.) Raf., Cleome acutifolia Elmer, Cleome icosandra L., Polanisia icosandra (L.) Wight & Arn., Polanisia microphylla Eichler, Polanisia viscosa (L.) Blume, Sinapistrum viscosum | ชื่อวงศ์ | Cleomaceae | ชื่อท้องถิ่น | ผักส้มเสี้ยน , ผักส้มเสี้ยนผี , ส้มเสี้ยนผี (ภาคเหนือ) , ผักเสี้ยนตัวเมีย (ภาคกลาง) | | | ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ |
ต้นผักเสี้ยนผี จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 1 เมตร ที่ส่วนต่าง ๆ ของต้นจะมีต่อมขนเหนียวสีเหลืองปกคลุมอยู่หนาแน่น มีกลิ่นเหม็นเขียว มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวาง พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยมักจะพบขึ้นได้ตามข้างถนนหรือที่รกร้าง ตามริมน้ำลำธาร บางครั้งก็อาจพบได้บนเขาหินปูนที่แห้งแล้งหรือตามชายป่าทั่ว ๆ ไป
ใบผักเสี้ยนผี ใบเป็นใบประกอบ มี 3-5 ใบย่อย ก้านใบยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร โดยมากเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่หัวกลับ มีความประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร มีปลายแหลมหรือมน ส่วนโคนใบเรียวสอบ ขอบใบเรียบ มักเป็นสีเดียวกันกับก้านใบและมีขน ใบประดับคล้ายใบ มี 3 ใบย่อย ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มีก้านสั้น ๆ ร่วงได้ง่าย
ดอกผักเสี้ยนผี ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขยายอีกในช่องผล ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.4 เซนติเมตร ในผลสามารถยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปใบหอก มีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ติดทน กลีบดอกสีเหลืองมี 4 กลีบ โคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบ มักมีสีเข้มที่โคน แผ่นกลีบมีลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก และมีขนาดไม่เท่ากัน ก้านเกสรมีสีเหลืองอ่อนอมเขียว ยาวประมาณ 4-9 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูเป็นสีเทาอมเขียว เป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีรังไข่เป็นลักษณะรูปทรงกระบอกสั้น ๆ โค้งงอเล็กน้อย ไม่มีก้าน มีต่อมขนขึ้นหนาแน่น ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และก้านเกสรตัวเมียจะสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม
ผลผักเสี้ยนผี ผลมีลักษณะเป็นฝักคล้ายถั่วเขียวแต่มีขนาดเล็กมาก ผลกว้างประมาณ 2-4.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1-4 นิ้ว ตรงปลายผลมีจะงอยแหลม เห็นเส้นเป็นริ้วได้ชัดเจน ในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดผักเสี้ยนผี มีลักษณะผิวขรุขระย่นเป็นแนว เมล็ดมีสีน้ำตาลแดง มีขนาดประมาณ 1.5 x 1 มิลลิเมตร
| สรรพคุณทั่วไป |
- ช่วยเจริญไฟธาตุ
- แก้ปวดท้อง
- แก้ท้องร่วง
- แก้ลม
- แก้ลงท้อง
- แก้ฝีภายใน
- ทำให้หนองแห้ง
- แก้พิษฝี
- แก้ไข้ตรีโทษ
- ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม
- แก้โรคไขข้ออักเสบ
- แก้โรคผิวหนัง
- ใช่หยอดหูแก้หูอักเสบ
- แก้ฝีในปอด
- ช่วยขับหนองฝี
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
- แก้ปัสสาวะพิการ
- ช่วยขับลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ
- ใช่เป็นยาระบายอ่อนๆ
- ใช้พอกแก้ปวดศีรษะ
- แก้ปวดหลัง
- ใช้ฆ่าเชื้อโรค
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง
- ใช้ฆ่าพยาธิ
- ช่วยกระตุ้นหัวใจ
- แก้วัณโรค
- แก้โรคผอมแห้งของสตรี
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
- ช่วยทำให้หนองแห้ง
- แก้ลมอัมพฤกษ์
- ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา
| | | วิธีใช้โดยทั่วไป |
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวง บานทะโรค ด้วยการใช้ผักเสี้ยนผี 1 ส่วน / กะเพราทั้งสองอย่างละ 1 ส่วน / ต้นแมงลักทั้งห้า 1 ส่วน / ขอบชะนางแดงทั้งห้า 1 ส่วน โดยตัวยาทั้ง 4 นี้ ให้ใช้อย่างละ 2 บาท และใช้ใบมะกา 1 กำมือ แก่นขี้เหล็ก 1 กำมือ นำมาต้มน้ำเป็นยากินเช้า เย็น และก่อนนอน อย่างละ 1 แก้ว
- ช่วยแก้อาการปวดขา เส้นเลือดขอด โรคเหน็บชา ลุกนั่งเดินลำบาก โดยใช้สมุนไพรดังต่อไปนี้หนักอย่างละ 1 บาท ได้แก่ ผักเสี้ยนผี, แก่นขนุน, แก่นมะหาด, แก่นปรุ, แก่นประดู่, แก่นไม้รัง, แก่นไม้เต็ง, แก่นสักขี, แก่นไม้สัก, เกสรบัว, ขิง, ขิงชี้, ดอกสารภี, ดอกพิกุล, ดอกบุนนาค, คนทา, โคคลาน, โคกกระออม, จันทน์ทั้งสอง, ชะพลู, ใบมะคำไก่, ใบพิมเสน, ใบเล็บครุฑ, บัวขม, บัวเผื่อน, เท้ายายม่อม, มะเดื่อ, รางแดง, หัวคล้า, หัวแห้วหมู, ย่านาง, และยาข้าวเย็น นำทั้งหมดมาใส่หม้อต้ม แล้วใส่น้ำพอท่วมยา ใช้กินก่อนอาหารวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน และก่อนนอน ครั้งละค่อนแก้ว ถ้ายาหมดแล้วแต่ยังไม่หายให้ต้มกินอีกสัก 1-2 หม้อ
- ใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดหัวเข่า ด้วยการใช้ทั้งต้นและรากของผักเสี้ยนผี 1 ส่วน, ไพล 1 ส่วน และการบูร 1 ส่วน (ใช้พอประมาณ ทำเป็นยาเพียงครั้งเดียว วันถัดไปให้ทำใหม่) นำทั้งหมดมาตำให้ละเอียดกับสุราดีกรีสูง ๆ แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำมาเก็บใส่ขวดไว้ใช้ทาและนวดหัวเข่าบ่อย ๆ
- ใช้ปรุงเป็นยาแก้ขัด ยกไหล่ยกแขนไม่ขึ้น ด้วยการใช้ต้น ใบ และกิ่งผักเสี้ยน (ปริมาณพอสมควร), ใบพลับพลึง 3 ใบ, และใบยอ 17 ใบ นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ และให้ใช้พิมเสน และการบูร (ปริมาณพอสมควร) นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อแล้วต้มไฟอ่อน ๆ เคี่ยวให้ละลายจนเข้ากัน และยกลงรอให้เย็นแล้วเทยาใส่ขวดเป็นอันเสร็จ นำยาที่ได้มานวดบริเวณหัวไหล่ที่ยกไม่ขึ้น เช้า, เย็น ไม่เกิน 3 วันอาการก็จะหายเป็นปกติ
- ใช้ปรุงเป็นยากินแก้อาการอัมพาต มือตายเท้าตาย โดยใช้รากผักเสี้ยนผี, กาฝากที่ต้นโพธิ์, แกแล, แก่นขี้เหล็ก, แก่นขนุน, แก่นสน, แก่นปรุ, แก่นประดู่, แก่นไม้สัก, แก่นมะหาด, กำลังวัวเถลิง, ฝางเขน, เถาวัลย์เปรียง, ลูกฝ้ายหีบ, รกขาว, รกแดง, รากจง, รากกำจัด, รากกำจาย, รากคุยขาว, รากพลูแก่, รากหิบลม, รากกระพงราย, รากมะดูกต้น, สุรามะริด, สักขี, สมิงคำราม, สมอหนัง, สมอเทศลูกใหญ่, แสมทะเล, แสมสาร, โพกะพาย, โพประสาท, เพ็ดชะนุนกัน, พระขรรค์ไชยศรี, พริกไทย, มะม่วงคัน, เปล้าน้ำเงิน, เปล้าเลือด, เปล้าใหญ่, เปลือกเพกา, เปลือกราชพฤกษ์, เปลือกขี้เหล็ก, เปลือกสมุลแว้ง, ยาดำ, ยาข้าวเย็นใต้, ยาข้าวเย็นเหนือ (ทั้งหมดนี้เอาหนักละ 1 บาท) และให้เพิ่มสมอไทยเข้าไปด้วยเท่าอายุของผู้ป่วย ใช้ต้มกินประมาณ 4-5 หม้อใหญ่ ใช้ดื่มก่อนอาหาร 30 นาที ครั้งละครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา
| แหล่งข้อมูลอ้างอิง |
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [6 ต.ค. 2013].
- สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
- GotoKnow. (คุณมะเดื่อ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [6 ต.ค. 2013].
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.uru.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
- โรงเรียนโสภณศิริราษฎร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sopon.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
- กองพยาบาลสาธารณสุข. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: phn.bangkok.go.th. [6 ต.ค. 2013].
- เนคเทค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [6 ต.ค. 2013].
- ไทยเฮิร์บคลับ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaiherbclub.com. [6 ต.ค. 2013].
- ตามรอยพระพุทธบาท. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tamroiphrabuddhabat.com. [6 ต.ค. 2013].
- ภูมิปัญญาไทย สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล. [ออนไลน์]. [อ้างอิงใน: มติชน 1 ตุลาคม 2545]. เข้าถึงได้จาก: www.thaiwisdom.org. [6 ต.ค. 2013].
- สมุนไพรพัทลุง เครือข่ายกาญจนาภิเษก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th. [6 ต.ค. 2013].
- ไทยโพสต์, ภูมิปัญญาการกินและใช้ผักเสี้ยน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [6 ต.ค. 2013].
|
|