|
ชื่อสามัญภาษาไทย | หนอนตายหยาก |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Stemona tuberosa Lour. |
ชื่อพ้อง | Roxburghia gloriosa Pers., Roxburghia gloriosoides Roxb., Roxburghia viridiflora Sm. |
ชื่อวงศ์ | Stemonaceae |
ชื่อท้องถิ่น | กะเพียด (ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์), ป้งสามสิบ (คนเมือง), โปร่งมดง่าม ปงมดง่าม (เชียงใหม่), หนอนตายยาก (ลำปาง), หนอนตายหยาก (แม่ฮ่องสอน), กะเพียดหนู, สลอดเชียงคำ (อีสานโบราณ) |
ต้นหนอนตายหยาก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก กึ่งเถาเลื้อยพัน มักเลื้อยพันกับต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 10 เมตร และมีความสูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร เถามีลักษณะกลม สีเขียว กิ่งที่กำลังจะออกดอกมักจะเลื้อยพัน มีรากเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายกระชาย เป็นรูปกระสวย ออกเป็นกระจุก เนื้ออ่อนนิ่มมีสีเหลืองขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้เหง้าปักชำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับบริเวณใกล้กับโคนต้น และเรียงเป็นคู่ตรงกันข้ามบริเวณกลางต้นหรือยอด ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเรียบหรือบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-20 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นคลื่น เส้นใบแตกออกจากโคนใบขนานกันไปด้านด้านปลายใบประมาณ 9-13 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร ไม่มีหูใบและกาบใบ ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจะประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ใบประดับยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร กลีบรวมมี 4 กลีบ เรียงตัวเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 2 กลีบ กลีบเป็นรูปแถบยาวปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กลีบชั้นนอกเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอ่อนอมเหลือง มีลายเส้นสีเขียวแก่หรือม่วงเป็นลายประ ส่วนกลีบชั้นในเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง มีลายเส้นประสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ก้านเกสรสั้น อับเรณูเป็นสีม่วงยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ปลายมีจะงอยยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือฐานวงกลีบรวม ไม่มีก้านเกสร ออกผลเป็นฝักห้อยลงเป็นพวง ปลายฝักแหลม ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร เมื่อแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด ประมาณ 10-20 เมล็ด เมล็ดยาวประมาณ 1-1.7 เซนติเมตร มีปลายเรียวแหลมยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีก้านเมล็ดยาวประมาณ 8 มิลิลเมตร มีเยื่อหุ้มที่โคนของเมล็ด | |
| |
| |
|