อ้อยช้าง
  ชื่อสามัญภาษาไทยอ้อยช้าง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษWodier tree
  ชื่อที่เกี่ยวข้องกอกกั๋น หวีด ตะคร้ำ ช้าเกาะ ช้างโน้ม
  ชื่อวิทยาศาสตร์Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.
  ชื่อพ้องDialium coromandelicum Houtt.
  ชื่อวงศ์Anacardiaceae
  ชื่อท้องถิ่นหวีด (เชียงใหม่), ช้าเกาะ ช้างโน้ม (ตราด), กอกกั่น กอกกั๋น (อุบลราชธานี), ตะคร้ำ (ราชบุรี), ซาเกะ (สุราษฎร์ธานี), กุ๊ก กุ้ก (ภาคเหนือ), อ้อยช้าง (ภาคกลาง), เส่งลู่ไค้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ปีเชียง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แม่หยูว้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กอกกัน
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นอ้อยช้าง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรงมีความสูงได้ประมาณ 12-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด สีเทาอมเขียว เปลือกในเป็นสีชมพู มียางเหนียวใส อ้อยช้างเป็นไม้ที่ไม่ค่อยจะแตกกิ่งก้านสาขามากนัก กิ่งก้านจะค่อนข้างเรียวเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนหรือตามกิ่งอ่อนจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ สวนกิ่งแก่จะมีช่องอากาศ ต้นจะสลัดใบทิ้งเมื่อออกดอก มีรอยแผลใหญ่ ๆ ของใบที่หลุดใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง (เพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายสุด) ขึ้นได้ในทุกสภาพดิน ชอบความชื้นและแสงแดดแบบเต็มวันมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง มักพบขึ้นในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายูและชวา ในประเทศพบกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง บางครั้งก็พบได้ตามป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล 

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน แกนกลางใบประกอบยาวได้ประมาณ 12-28 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร เป็นรูปคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักมีสันปีกแคบ ๆ ด้านใดด้านหนึ่ง ก้านใบย่อยด้านข้างยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบย่อยของใบปลายยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนใบแก่ผิวจะเกลี้ยง มีเส้นใบข้างละประมาณ 7-11 คู่ ส่วนเส้นใบย่อยค่อนข้างเลือนราง 

ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งก่อนผลิใบ ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ กลีบดอกหอม ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร ช่อดอกยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร ก้านช่อมีขนเล็ก ๆ ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ต้นเพศผู้จะมีช่อดอกแบบแยกแขนงยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ส่วนต้นเพศเมียจะแตกแขนงน้อยกว่า ช่อยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หรือไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 4-6 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ปลายกลีบมน ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขึ้นประปราย กลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ เรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ไม่มีขน และพับงอกลีบ กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-10 อัน (หรือมีเป็นสองเท่าของจำนวนกลีบดอก) อยู่ในดอกเพศผู้ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้จะอยู่ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวน มีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือสั้นกว่า ส่วนรังไข่เกลี้ยงเป็นสีแดงสด และดอกจะออกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 

ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมู หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ผลแก่เป็นสีม่วงอมแดง ก้านผลสั้นหรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือรี เมล็ดค่อนข้างแข็ง มีรอยเว้า 1-2 รอยที่ปลายบน (ผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมีนาคม)


สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร 
  • เปลือกใช้เป็นยาต้มรักษาธาตุพิการและอ่อนเพลีย 
  • ช่วยแก้อาการปวดประสาท 
  • น้ำที่ได้จากเปลือกสด ๆ ใช้เป็นยาหยอดตารักษาอาการตาเจ็บ ตาอักเสบรุนแรง 
  • ใช้รักษาอาการปวดฟัน 
  • แก่นมีรสหวาน มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ แก้เสมหะเหนียว 
  • แก่นอ้อยช้างใช้ปรุงเป็นยาแต่งรสเพราะมีรสหวานช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ เกิดความชุ่มชื่นในอก 
  • ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ใบอ้อยช้างผสมกับใบไพล ใบหวดหม่อน แล้วนำมาบดให้เป็นผงกินกับน้ำเช้าเย็น เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด หรือจะใช้ยางที่ปูดจากลำต้น นำมาผสมกับยางที่ปูดจากลำต้นมะกอก ฝนกับน้ำดื่มก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอเป็นเลือดเช่นกัน 
  • ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 
  • รากหรือเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย 
  • เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง 
  • เปลือกใช้ทำเป็นยาใส่แผล ช่วยสมานแผล และเป็นยาห้ามเลือด 
  • เปลือกนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ฝีเมื่อเป็นฝี และรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน หรือจะนำเปลือกมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใช้ใส่แผลโรคผิวหนังก็ได้ 
  • ใช้เป็นยาแก้ผิวหนังพุพอง เน่าเปื่อย 
  • ใบใช้เป็นยารักษาโรคเท้าช้าง 
  • ช่วยรักษาโรคเกาต์ 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการอักเสบ อาการแพลง และรอยฟกช้ำ ส่วนเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด แก้รอยฟกช้ำ อาการแพลง 

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เปลือกฝนทาแผล อมแก้ปวดฟัน
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้เปลือกใส่แผล แก้ปวดฟัน 
  • แก่นปรุงเป็นยาแต่งรส เพราะรสหวาน ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ แก้กระหายน้ำ เกิดความชุ่มชื่นในอก
ในอินเดีย 
  • ใช้ใบ เปลือก และยางเป็นยา ใบใช้เป็นยาทาภายนอกโดยนำมาต้มในน้ำมัน ใช้ทาแก้เคล็ด ขัดยอก และปวดบวม ใช้เป็นยาพอก โดยผสมกับพริกไทยดำ แก้โรคปวดตามข้อ 
  • น้ำที่ได้จากกิ่งก้านที่มีสีเขียว เป็นยาทำให้อาเจียน 
  • เปลือกเป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด 
  • ใช้เป็นยาต้มแก้ธาตุพิการและอ่อนเพลีย 
  • ใช้กลั้วคอเมื่อเป็นแผลในปากและปวดฟัน 
  • ใช้ต้มอาบเมื่อเป็นฝี โรคเรื้อน และเป็นโรคผิวหนัง 
  • หรือ เมื่อนำมาเปลือกมาบดเป็นผงใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง 
  • น้ำจากเปลือกสด ๆ ใช้หยอดตาแก้ตาเจ็บ 
  • ยางจากต้นใช้ผสมเป็นยาน้ำ ชะล้างแผลพุพองที่ผิวหนัง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “อ้อยช้าง”.  หน้า 840-841.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ก.ย. 2014].
  3. ผู้จัดการออนไลน์.  “โพธิญาณพฤกษา : อ้อยช้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.  [21 ก.ย. 2014].
  4. คมชัดลึกออนไลน์.  “อ้อยช้าง เปลือกแก้ปวดท้อง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net.  [21 ก.ย. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กุ๊ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [21 ก.ย. 2014].
  6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กอกกัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.   [21 ก.ย. 2014].