ละหุ่ง
  ชื่อสามัญภาษาไทยละหุ่ง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCastor, Castor bean, Castor oil plant
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ricinus communis Linn
  ชื่อวงศ์Euphorbiaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะโห่ง , มะโห่งหิน ,มะหุ่ง (ภาคเหนือ) , ละหุ่งขาว , ละหุ่งแดง (ภาคกลาง,ทั่วไป, ,ปี่มั้ว(จีน) , Ricinus (สเปน,โปรตุเกส)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ละหุ่งจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 6เมตร โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ละหุ่งขาวลำต้นและก้านใบจะเป็นสีเขียว ละหุ่งแดงลำต้นและก้านใบจะเป็นสีแดง มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นแตกกิ่งแขนงออกน้อย ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง ส่วนแก่นลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย 

ใบเป็นใบเดี่ยวแทงใบออก เรียงสลับตามลำต้น ใบมีก้านใบทรงกลม ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเว้าเป็นแฉกๆคล้ายใบมะละกอ โดยใบละหุ่งจะเชื่อมกับแผ่นใบบริเวณตรงกลาง แผ่นมีขนาดประมาณ 20-60เซนติเมตร (แต่ขนาดใบจะแตกต่างตามสายพันธุ์) แผ่นใบเป็นแฉกเว้า ประมาณ 7-11แฉก เรียงกันเป็นวงกลม แต่ละแฉกมีโคนเชื่อมติดกัน แผ่นแต่ละแฉกเรียบ ขอบมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นแฉกมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน ทั้งนี้ ทั้งก้านใบ แผ่นใบ เส้นกลางใบจะมีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ 

ดอกออกเป็นช่อ ที่ปลายกิ่งหรือที่ปลายยอดแบบช่อกระจะ บางครั้งแยกแขนง มีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้อยู่ช่วงบน ดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง ก้านดอกยาวกว่าดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง 5กลีบ ในดอกเพศเมียเรียวแคบกว่า เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มๆ แตกแขนง รังไข่ 3ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1เม็ด มีเกล็ดคล้ายหนามปกคลุม ก้านเกสร 3อัน ยาวเท่าๆ กลีบเลี้ยงบางแยกเป็น 3-5 แฉก ติดทน ไม่มีกลีบดอก ก้านดอกยาว ไม่มีจานฐานดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายเป็น 5หยัก รูปสามเหลี่ยม ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ร่วงง่าย 

ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล ทรงรี ยาวประมาณ 1.5-2.5เซนติเมตร มี 3พู รูปไข่ สีเขียว ยาว 1-1.5เซนติเมตร ผิวมีขนคล้ายหนามอ่อน ทั้งผล คล้ายผลเงาะ เมล็ดทรงรี เมล็ดละหุ่งมีรูปรี และแบนเล็กน้อย ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 1-1.5เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.5เซนติเมตร เปลือกเมล็ดเรียบ มีลายสีน้ำตาลดำ และสีครีมประ ผิวเป็นมัน และแข็ง ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อเมล็ด สีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันจำนวนมาก โดยน้ำมันจากเมล็ดละหุ่งจะมีลักษณะเป็นของเหลว ข้น เหนียว ใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ น้ำมันมีกลิ่นเล็กน้อย มีรสเฝื่อน มันเอียน และเผ็ดเล็กน้อย

สรรพคุณทั่วไป

  • มีฤทธิ์ฆ่าแมลงบางชนิดได้
  • ใช้ต้มกินเป็นยาระบาย
  • แก้ปวดท้อง
  • ใช้ขับน้ำนม
  • ช่วยขับระดู (ประจำเดือน)
  • ช่วยขับลม
  • แก้ปวดบวม
  • แก้ปวดตามข้อ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • รักษาแผลเรื้อรังใช่
  • เป็นยาพอกฝี(นำมาตำ)
  • แก้ช้ำรั่ว(อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่)
  • แก้เลือดลมพิการ
  • เป็นยาพอกเหงือกแก้ปวดฟัน
  • ต้มกินเป็นยาระบาย
  • แก้พิษไข้เซื่องซึม
  • เป็นยาสมาน
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้กระดูกหัก กระดูกแตก
  • มีฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ให้บีบตัว ขับกากอาหารออกมา
  • ช่วยป้องกันพิษจากหอยคัน (บดผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู)
  • ช่วยป้องกันผื่นแพ้จากสาหร่าย (บดผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู)

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • น้ำมันละหุ่ง ใช้เป็นยาถ่ายที่ใช้กันมานานแล้ว ออกฤทธิ์ภายใน 3ชั่วโมง น้ำมันละหุ่งทำให้ไม่มีแก๊สและอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ แต่เนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีกลิ่นไม่ชวนกิน ดังนั้นควรใช้ผสมกับน้ำผลไม้จะทำให้กินได้ง่ายขึ้น ควรกินในขณะท้องว่าง แต่ไม่ควรใช้ก่อนนอน เพราะออกฤทธิ์เร็ว ขนาดที่ใช้สำหรับเป็นยาระบายคือ 4 มิลลิกรัม หากต้องการใช้เป็นยาถ่าย ขนาดสำหรับผู้ใหญ่ ครั้งละ 15-60 มิลลิกรัม เด็กครั้งละ 5-15 มิลลิกรัม
  • น้ำยาง ใช้ทาห้ามเลือดจากแผลสด แก้อาการผดผื่นคัน หรือการระคายเคืองที่ผิวหนัง
  • ใบ นำมาต้มดื่ม แก้อาการปวดท้อง ช่วยลดไข้ นำมาตำหรือบดขยำ ใช้ทาพอกรักษาฝี แก้อาการผดผื่นคันหรือรักษาโรคผิวหนัง รวมไปถึงใช้ต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง หรือใช้เผาไฟพอกแก้ปวดบวมตามข้อ หรือใช้ใบห่อกับดิฐเผาไฟแล้วใช้ประคบแก้ริดสีดวงทวาร
  • ราก และลำต้น นำมาต้มดื่ม แก้อาการหอบหืด ใช้เป็นยาระบาย หรือใช้สุมเป็นถ่านทำเป็นยารับประทานแก้พิษไข้ เซื่องซึมและเป็นยาฝาดสมาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. นพ.สมิง เก่าเจริญ.ศิรประภา แสงจันทร์.อริศร์ เทียนประเสริฐ .ยาถ่ายและยาระบาย.
  2. คอลัมน์ คุยกันเรื่องยา . นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 62.มิถุนายน 2527.
  3. น้ำมันละหุ่งช่วยรักษาอาการเข่าอักเสบ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. สารพิษจากเมล็ดละหุ่ง.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ.กลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  5. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดเอทานอลจากรากละหุ่ง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ละหุ่ง.พืชมีพิษ.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www’rspg.or.th/plant_data/toxic_39.htm
  7. ละหุ่ง.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.phrgarden/main.php?action=viewpag&pid=106
  8. ละหุ่ง(castro) สรรพคุณและการปลูกละหุ่ง.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com
  9. ละหุ่ง.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phrgarden/main.php?action=viewpag&pid=118