พญารากดำ
  ชื่อสามัญภาษาไทยพญารากดำ
  ชื่อที่เกี่ยวข้องกะเจียน
  ชื่อวิทยาศาสตร์Diospyros variegate Kurz
  ชื่อวงศ์Ebenaceae
  ชื่อท้องถิ่นพญารากดำ (สุโขทัย) น้ำจ้อย (ปราจีนบุรี) พลับดำ (กาญจนบุรี) มะเขือเถื่อน อีดำ (กำแพงเพชร).
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นพญารากดำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 20 เมตร เปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ด กิ่งอ่อนเกลี้ยง หรือ เกือบเกลี้ยง 

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปขอบขนาน หรือ รูปหอกกลับ กว้าง 5-11 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ทู่ มน หรือ ป้าน ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบแหลมทู่ ๆ สอบแคบ และบางทีมน เนื้อใบหนา และเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เส้นใบมี 8-12 คู่ คดไปมา ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเห็นเด่นชัด. ก้านใบยาว 0.5-1เซนติเมตร เกลี้ยง 

ดอก ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ และตามกิ่ง ก้านดอกยาว 2-4 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง กลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว 3-4 มม. ปลายแยกเป็น 4 แฉก เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนนุ่มทางด้านนอก ขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปเมื่อแก่ ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปแจกันทรงสูง ยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 4 แฉก กลีบดอกและถ้วยดอกยาวพอ ๆ กัน เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เกสรผู้มี 14-18 อัน เกลี้ยง รังไข่ฝ่อมีขนสาก ดอกเพศเมีย ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เกลี้ยง กลีบรองกลีบดอกครึ่งล่างเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ครึ่งบนแยกเป็น 4 แฉก มีขนสากทั้ง 2 ด้าน กลีบดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ แต่ใหญ่กว่า เกสรผู้ฝ่อมี 9 อัน เกลี้ยง รังไข่รูปป้อม มีขนแน่น ภายในแบ่งเป็น 8 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 1 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว มีขนยาว ๆ ขึ้นแน่น 

ผล ลักษณะกลม ปลายมน มีติ่งแหลมเล็ก ๆ โคนมน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร (ผลอ่อน) ผิวแข็งมาก มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป เมื่อแก่ขึ้นขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป. กลีบขั้วผลจะแยกกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด กลีบพับกลับ ขอบกลีบเป็นคลื่นแต่ไม่จีบ มีครีบพอมองเห็นชัด ก้านผลยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร

สรรพคุณทั่วไป

ตำรายาไทย 
  • เนื้อไม้ ยาง รสขมน้อย สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เจ็บเอว เจ็บหลัง แก้กระษัย ไตพิการ 
  • ดอก รสขมเย็น สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ไข้ตัวร้อน ไข้เหนือ 
  • ราก รสร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ขับผายลม

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  1. เนื้อไม้มีรสขมใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร 
  2. รากหรือเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย 
  3. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ 
  4. เนื้อไม้มีรสขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้วัณโรคในลำไส้ วัณโรคในปอด เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาคุมกำเนิดในสตรี ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากกะเจียนนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ บำรุงกำลังสำหรับบุรุษ กินแล้วกระชุ่มกระชวย คลายเส้นเอ็น และช่วยปรับสภาพร่างกาย 
  6. ใบสดมีรสเฝื่อนเย็น ใช้ตำพอกฝี แก้ปวด แก้อักเสบ 
  7. เนื้อไม้ใช้ฝนกับน้ำปูนใสทาเกลื่อนหัวฝี 
  8. เนื้อไม้ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง ปวดเอว หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายก็ได้เช่นกัน 
  9. เปลือกใช้เข้ายาพื้นเมืองบางชนิด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กะเจียน”. หน้า 68. 
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พญารากดำ”. หน้า 526-527. 
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [21 มิ.ย. 2015]. 
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กะเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [22 มิ.ย. 2015]. 
  5. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กะเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [22 มิ.ย. 2015]. กรีนคลินิก. “กระเจียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th. [22 มิ.ย. 2015].