มะม่วงหาวมะนาวโห่
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะม่วงหาวมะนาวโห่
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษKaranda, Carunda ,Christ’s thorn , Bengal Currants.
  ชื่อวิทยาศาสตร์Carissa carandas L.
  ชื่อวงศ์Apocynaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ , มะนาวไม่รู้โห่ , หนามแดง (ภาคกลาง) , หนามขี้แฮด (เชียงใหม่) , มะนาวโห่ (ภาคใต้)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะม่วงหาวมะนาวโห่มีลักษณะเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีสีเขียวตลอดปี มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ

ลำต้น : สูง 2-3 เมตร แต่อาจสูงถึง 5 เมตร มียางขาว เปลือกมีสีเทาอ่อน

กิ่ง: มีกิ่งจำนวนมาก กิ่งมีลักษณะแข็ง และกระจายไปทั่วต้น การแตกกิ่งจะแตกออกเป็น 2 กิ่งตรงคู่กัน มีหนามทั้งแบบหนามเดี่ยว หรือเป็นคู่ อาจยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร หนามจะพบบริเวณมุมใบ หรือตามข้อของกิ่ง กิ่งแขนงมักจะมีหนามที่แข็งและคม

ใบ: เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ไม่มีหูใบ กว้าง 1.5-4 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ปลายมน หรือเว้าบุ๋ม มีก้านในเดี่ยว เส้นใบเป็นแบบร่างแห ผิวใบเรียบ เป็นมัน มีสีเขียวเข้ม หรือสีเขียวอมเทา

ช่อดอก: ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีลักษณะเรียงเป็นแบบช่อเชิงหลั่นเป็นกระจุกกันอยู่ ใบประดับตรง

ดอก: ดอกมีกลิ่นหอม (คล้ายดอกมะลิ) ขนาด ยาวประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว หรือสีชมพู รวมกันเป็นช่อ 2-3 ดอก ไม่มีใบประดับย่อยมีก้านดอกย่อย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกสมมาตรตามรัศมี มีกลับดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมีลักษณะเป็นขน โคนเชื่อมเป็นหลอด ยาว 16-21.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนสั้นขนาดเล็ก วงกลีบดอก: กลีบดอกเชื่อมกัน 5 กลีบเป็นวง เป็นรูปใบหอก สีขาว มีขนสั้นขนาดเล็กนุ่ม หลอดมีลักษณะยาว และขยายตรงฐานรองดอก มีขนสั้นนุ่มเช่นเดียวกัน

เกสรตัวผู้: มีละอองเกสรตัวผู้จำนวนมากปลายยอดเกสรตัวผู้มีรยางค์ อับเรณูติดอยู่ตรงฐานมีลักษณะหันเข้า อับเรณูแตกทางยาว

เกสรตัวเมีย:มี 1 อัน รังไข่มีลักษณะกลมรี มีวงเกสรตัวเมีย 2 วงเชื่อมกันอยู่ รังไข่เป็น syncarpous มีหลาย locule placenta อยู่ที่แกนกลาง (axis) ของรังไข่ มี carpel และ locule 2 อัน ยอดเกสรตัวเมียมีลักษณะเป็นเส้นใยปลายแยกเป็น 2 แฉก

ผล: ผลไม้ที่มีเนื้อสด (fleshy fruit) มี pericarp เป็นเนื้อนุ่มรับประทานได้ ผลเป็นแบบ drupe (ผลไม้ที่มีเมล็ดแข็ง) ลักษณะรูปไข่ ขนาดกว้าง 12-17 มิลลิเมตร ยาว 15-23 มิลลิเมตร ผลเป็นผลเดี่ยวออกรวมกันเป็นช่อ ผลอ่อนจะมีสีชมพูอ่อนๆ และค่อยๆเข้มขึ้นเป็นสีแดง กระทั่งสุกจึงกลายเป็นสีดำ มีรสชาติเปรี้ยวคล้ายมะนาว

เมล็ด: เมื่อผลสุกจะมี 2-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน รูปไข่ เอนโดสเปิร์มเป็นแบบเนื้อ (fleshy endosperm) มีลักษณะเว้า


สรรพคุณทั่วไป

  • มะม่วงหาวมะนาวโห่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยในการชะลอวัยและริ้วรอย 
  • ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง 
  • แก้อาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า 
  • เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้กับร่างกาย 
  • ช่วยให้เจริญอาหาร 
  • มีส่วนช่วยลดความอ้วน 
  • ช่วยขยายหลอดเลือดป้องกันการเกิดโรคหัวใจ 
  • มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง 
  • ธาตุเหล็กในผลมีส่วนช่วยรักษาโรคเบาหวาน 
  • มีส่วนช่วยรักษาโรคโลหิตจาง

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • รากสด ต้มกับน้ำใช้ดื่มเพิ่มความอยากอาหาร เพิ่มการทำงานของกระเพาะอาหาร เพิ่มการหลั่งกรด แก้ท้องเสีย ขับพยาธิ 
  • ใบ ต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดไข้ แก้ท้องเสีย แก้แผลอักเสบที่ปาก 
  • ผลสุกใช้รับประทานสดหรือทำเป็นน้ำผลไม้ดื่ม แก้ลักปิดลักเปิด แก้โลหิตจาง ช่วยเจริญอาหาร แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ท้องเสีย 
  • แก่นไม้มะม่วงหาว มะนาวโห่ ใช้ต้มกับน้ำใช้ดื่ม ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีบ 
  • น้ำยางใช้ทากัดตาปลา 
  • เนื้อที่ด้านแข็ง รักษาหูด กลากเกลื้อน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สกุลกานต์ สิมลา.มะนาวโห่ : พืชในวรรณคดีไทยที่มากด้วยประโยชน์ .วารสารแก่นเกษตร .ปีที่ 44 ฉบับที่3 .กรกฎาคม – กันยายน .2559.หน้า 557-566.
  2. มะนาวไม่รู้โห่...ไม้ประดับกินได้.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ธงชัย พุ่มพวง.ประพันธ์ ชานนท์.พิมพ์ใจ ทรงประโคน. กัลยาณี วรรณศรี. ดำรงเกียรติ มาลา และ พรประภา รัตนแดง 2556.มะม่วงหาว มะนาวโห่ ผลไม้ในวรรณคดีไทยที่มากมายด้วยคุณค่าและราคาดี.นิตยสารเกษตรโฟกัส.2(20):24-39.
  4. ณัฏฐินี อนันตโชค.มะนาวไม่รู้โห่.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่29.ฉบับที่ 1.ตุลาคม.2554.หน้า2-6
  5. ณนัฐอร บัวฉุน.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบฟีนอลิกของเมล็ดและเนื้อมะม่วงไม่รู้โห่.วานสารวิจัยและพัฒนะ วไลขอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์.ปีที่ 13 ฉบับที่2.พฤษภาคม-สิงหาคม 2561.หน้า 53-63
  6. มะม่วงหาวมะนาวโห่.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medlont.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5703
  7. สกุลกานต์ สิมลา.สุรศักดิ์ บุญแต่ง และพัชรี สิริตระกูลศักดิ์.(2556).การประเมินปริมาณสารพฤษเคมีบางประการและกิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระใน Carissa carandas L. แก่นเกษตร 41 ฉบับพิเศษ:602-606.
  8. มะม่วงหาว มะนาวโห่.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medlont.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6441