ใบเงิน ใบทอง ใบนาก
  ชื่อสามัญภาษาไทยใบเงิน ใบทอง ใบนาก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGold leaves, Caricature plant
  ชื่อวิทยาศาสตร์Graptophyllum pictum (L.) Griff.
  ชื่อวงศ์Acanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นใบรวยทอง ทองลงยา ทองนพคุณ ทองคำขาว นากนอก
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ สลับกันตามลำต้น

    ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ใบเป็นลายมีหลายสีและจะเรียกตามลักษณะที่ด่าง เช่น ใบเงิน แผ่นใบเป็นสีเขียว ที่กลางใบจะมีด่างสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนจาง ๆ แทรกอยู่ ใบทอง แผ่นใบเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ มีสีเหลืองเข้มแทรกตามขอบใบ ใบนาก แผ่นใบเป็นสีเขียวแกมน้ำตาลหรือสีเขียวอมม่วง และมีรอยด่างเป็นสีขาวและสีม่วงที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนขอบใบเป็นสีชมพูเข้ม

    ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีม่วงแดงหรือสีแดงเข้ม โคนกลีบดอกเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นปาก 2 ปาก แยกเป็นปากบนและปากล่าง ปากล่างห้อยหัวลงมี 3 กลีบ ส่วนปากบนจะงอนขึ้นด้านบน ด้านในกลีบดอกมีขนอ่อนเต็มไปหมด ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 ก้านอยู่ข้างเกสรเพศเมีย และจะผลิดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (ภาพแรกดอกใบเงิน ภาพสองดอกใบทอง และภาพสามดอกใบนาก)

    ผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปทรงรี ปลายฝักเป็นติ่งแหลม เมื่อฝักแห้งจะแตกออกได้ และไม่ค่อยติดฝัก

สรรพคุณทั่วไป

  • เกสรช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ทุกส่วนของลำต้นใช้รักษาอาการอิดโรย อ่อนกำลัง
  • ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาลดไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษร้อน ถอนไข้พิษ แก้ไข้กำเดา ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ช่วยดับพิษปอดพิการ ล้อมตับดับพิษ (ช่วยป้องกันการทำลายของตับจากสารพิษและความร้อน) แก้กาฬตับ เกสรมีรสเย็นหวานเล็กน้อย เป็นยาแก้ไข้ร้อน
  • ทุกส่วนของลำต้นใช้ปรุงเป็นยารักษาอาการไข้ และยังใช้เข้ายารักษาไข้สำหรับเด็กในกรณีที่เป็นไข้หอม
  • น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูรักษาอาการปวดหู ขับแมลงเข้าหู หยอดหูแก้คัน ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูรักษาอาการปวดหู ขับแมลงเข้าหู หยอดหูแก้คัน
  • ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง
  • น้ำคั้นจากใบใช้ปรุงเป็นยาดื่มรักษาอาการท้องผูก
  • ใบมีสรรพคุณแก้บิดมูกเลือด ขับพยาธิ ช่วยแก้ขัดเบา มูกเลือด พิษเบื่อเมา และพยาธิ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  • ดอกมีรสเฝื่อนเล็กน้อย ใช้ชงดื่มเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี
  • ใบนำมาตำแล้วเอามาใช้เป็นยาทารักษาอาการปวดบวม รักษาฝี และใช้ห้ามเลือดได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกเงี่ยงปลาตำ
  • น้ำคั้นจากใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันได้
  • ทุกส่วนของลำต้นใช้ทำเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ใบเงิน (Bat Ngoen)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 167.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ใบเงินใบทอง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 439-440.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ใบนาก”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 442-443.
  4. หนังสือรวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).
  5. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์
  6. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ใบเงิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/. [18 เม.ย. 2014].