เต่ารั้ง หรือ เต่าร้าง
  ชื่อสามัญภาษาไทยเต่ารั้ง หรือ เต่าร้าง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษFishtail Palm, Burmese Fishtail Palm, Clustered Fishtail Palm, Common Fishtail Palm, Wart Fishtail Palm, Tufted Fishtail Palm
  ชื่อวิทยาศาสตร์Caryota mitis Lour.
  ชื่อวงศ์Arecaceae
  ชื่อท้องถิ่นเขื่องหมู่ (ภาคเหนือ), เต่ารั้งมีหน่อ (ภาคกลาง), มะเด็ง (ยะลา), งือเด็ง (มลายู-นราธิวาส), เต่าร้าง, เก๊าหม้าย เก๊ามุ่ย เก๊าเขือง (คนเมือง), มีเซเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), เก๊าเขือง (ไทลื้อ), ซึ (ม้ง), จึ๊ก (ปะหล่อง), ตุ๊ดชุก (ขมุ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เต่ารั้ง หรือ เต่าร้างเป็นพรรณไม้ประเภทปาล์ม ต้นแตกกอมีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร และลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร มักขึ้นเดี่ยว ๆ หรือแตกกอเป็น 2-4 ต้น ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีลักษณะเกลี้ยงเป็นสีเขียวถึงสีเทาอมเขียว เป็นปาล์มที่มีอายุสั้น หลังออกดอกเป็นผลแล้วต้นจะค่อย ๆ ตายไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกกอ เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย พม่า หมู่เกาะอันดามัน อินโดนีเซีย ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และทางตอนใต้ของจีน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเสื่อมโทรม ริมลำธาร ตามที่ลุ่ม และตามแนวหลังป่าชายเลนที่ติดกับป่าบกหรือป่าพรุ 

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับรอบลำต้น ช่อใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง แผ่แบน แตกแขนงออกเป็นช่อใบย่อยข้างละ 7-23 ช่อ ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ใบย่อยมีลักษณะพับเป็นจีบคล้ายรูปตัววี แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหยักเว้า ปลายใบแหลมคล้ายหางปลา โคนใบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบเป็นสีเขียวเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ใบย่อยคู่สุดท้ายมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มักติดกันและมีขนาดใหญ่ ปลายใบหยักไม่สม่ำเสมอ โคนใบเป็นรูปลิ่มเยื้อง ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีกาบใบโอบรอบลำต้นยาวประมาณ 0.5-2 เมตร โคนกาบใบมีขนสีน้ำตาลแดงปนเทาหรือสีดำ และมีรยางค์สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม 

ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน โดยจะออกดอกเป็นช่อเชิงลดไม่มีก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร ก้านช่อดอกอวบ ห่อหุ้มไปด้วยกาบสีเขียวขนาดใหญ่ ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด ต่อมาจะออกตามซอกใบ แล้วไล่ลงมาถึงโคนต้น ช่อดอกมีลักษณะย่อยห้อยลงมา ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ดอก เรียงเวียนสลับกับแกนช่อดอกย่อย โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีเขียวอ่อนไม่มีก้าน ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปทรงขอบขนาน เมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองนวล กลีบดอกแข็งมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลมโค้ง ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นสีเขียวอ่อน มีกลีบดอก 3 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมติดกัน ดอกที่บานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร 

ผลเป็นสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว สีเขียวแกมเหลือง ออกเป็นพวง ๆ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร เนื้อผลชุ่มไปด้วยน้ำเลี้ยง ซึ่งเป็นพิษและทำให้ระคายเคือง ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้มถึงสีม่วงคล้ำหรือดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • เป็นยาแก้ไข้จับสั่น 
  • บำรุงตับและปอด 
  • บำรุงกำลัง 
  • หัวอ่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้รู้สึกอบอุ่นมากขึ้น จึงนิยมนำไปรับประทานในช่วงที่เป็นไข้หนาว เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นและช่วยให้หายจากอาการดังกล่าวได้ไวขึ้น
  • หัวและรากเต่าร้างแดงมีรสหวานเย็นขม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตับทรุด ช่วยดับพิษที่ตับ ปอด และหัวใจพิการได้ดี 
  • หัวและราก บางข้อมูลระบุด้วยว่า รากและหัวมีสรรพคุณเป็นยาแก้กาฬขึ้นปอด แก้หัวใจพิการ แก้ม้ามพิการ และอาการช้ำใน

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  หัวดับพิษตับ ปอด แก้ตับทรุด
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้รากเต่าร้างแดงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง 
  • ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน จะนำมาต้ม ลวก แกง หรือผัดกะทิก็ได้ แล้วนำไปเป็นอาหารกินแกล้มกับแกงหรือน้ำพริก, บ้างก็ใช้รับประทานสด ๆ อีกส่วนคือใช้แกนในของลำต้น (แกนในยอดอ่อนบริเวณโคนต้น) นำมาประกอบอาหาร 
  • ช่อดอกสามารถนำมาปาดเอาน้ำหวานผลิตเป็นน้ำตาลได้เช่นเดียวกับมะพร้าว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_29_2.htm
  2. https://medthai.com/เต้าร้างแดง/