มะยม
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะยม
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษStar-goose berry
  ชื่อวิทยาศาสตร์Phyllanthus acidus (Linn.) Skeels.
  ชื่อพ้องPhyllanthus distichus Müll.Arg. Cicca acida Merr. Cicca disticha L. Averrhoa acida L.
  ชื่อวงศ์Phyllanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะยม (ภาคเหนือ) , หมากยม (ภาคอีสาน) ,ยม (ภาคใต้)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะยมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นเป็นปุ่มปมอันเกิดจากแผลเป็นของก้านใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว กิ่งก้านมักจะเปราะและหักง่าย 

ใบเรียงสลับกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นประเภทขนนก คือมีใบย่อยเรียงอยู่ 2 ด้านของก้านใบรวมขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใบย่อย มี 20 – 30 คู่ เป็นรูปไข่เบี้ยว ปลายใบแหลม ก้นใบค่อนข้างกลม ด้านบนใบสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีขาวนวลอมเขียว

ดอกมะยมออกเป็นช่อ แทงออกตามกิ่ง และลำต้น แต่ส่วนมากออกตามปลายกิ่งจนถึงยอด มักแทงงอกบริเวณด้านล่างของใบ เป็นดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียในต้นเดียวกัน มีก้านดอกยาว 1-2 มม. กลีบดอกมีรูปร่างคล้ายไต มีสีเขียวหรือสีแดงเรื่อ กลีบดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่ 3-4 ห้อง บางครั้งอาจพบเกสรตัวผู้ 1-3 อัน บริเวณฐานรังไข่ 

ผลมะยมมีลักษณะค่อนข้างกลม ก้นแบน จุกด้านบนบริเวณก้านผลบุ๋มลงไปด้านข้าง เป็นพูเว้านูนรอบผล ประมาณ 6-8 พู (เหลี่ยมนูน) ผลกว้างประมาณ 1-3 ซม. มีขั้วผลสั้นประมาณ 0.5 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย และแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เนื้อผลมีรสเปรี้ยวฉ่ำน้ำ ผล 1 ผล เมล็ดมี 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นพูคล้ายพูผล เมล็ดมีสีนวลอมน้ำตาล เนื้อเมล็ดแข็งมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ผดผื่นคัน
  • ช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้ง
  • แก้ประดง
  • ช่วยดับพิษเสมหะ
  • แก้ไข้ทับระดู(ประจำเดือน)
  • แก้ไข้
  • แก้ดับพิษไข้
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • แก้คัน
  • แก้ไข้หัด
  • แก้เหือด
  • แก้อีสุกอีใส
  • แก้โรคในตา
  • ชำระล้างในตา

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตด้วยการใช้ผลแก่นำมาดองในน้ำเชื่อมจนครบ 3 วัน (น้ำ 1 ส่วน / น้ำตาล 3 ส่วน) แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ 
  • แก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • แก้เบาหวาน ด้วยการใช้ใบสดและรากใบเตยพอประมาณนำมาใส่หม้อ เติมน้ำแล้วต้มเอาน้ำดื่ม 
  • ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ใบแก่พร้อมก้านประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่หม้อเติมน้ำพอท่วม ใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อดับรสเฝื่อน ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาดื่มจนความดันเป็นปกติแล้วจึงหยุดรับประทาน 
  • บรรเทาอาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบมะยมแก่รวมก้าน 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลกรวดพอประมาณ (ไม่ให้หวานมาก) นำมาต้มจนเดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า-เย็น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. เดชา ศิริภัทร. มะยม:ความเปรี้ยวที่เป็นมงคลของชาวไทย.คอลัมน์พืชผัก.ผลไม้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 241.พฤษภาคม.2542
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะยม ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 179
  3. การทดสอบความเป็นพิษและความทนต่อกลูโคสของสารสกัดจากใบมะยม.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. มะยม.กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_02_9.htm.
  5. มะยม.สรรพคุณและการปลูกมะยม.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com
  6. ใบมะยม.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก.http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=1425