อีเหนียว
  ชื่อสามัญภาษาไทยอีเหนียว
  ชื่อวิทยาศาสตร์Desmodium gangeticum (L.) DC.
  ชื่อพ้องDesmodium gangeticum var. maculatum (L.) Baker, Meibomia gangetica (L.) Kuntze
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นอีเหนียว (ภาคกลาง) นางเหนียว หนาดออน (ภาคกลาง) หญ้าตืดแมว (ภาคเหนือ) หนูดพระผู้ (ตรัง) อ้ายเหนียว (กาญจนบุรี) กระตืดแป (เลย) นอมะช่าย (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นอีเหนียว จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 60-150 เซนติเมตร กิ่งก้านอ่อน แตกกิ่งก้านที่ปลาย ตามลำต้นมีขนปกคลุมหนาแน่นถึงปานกลาง มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์แอฟริกา เอเชีย มาเลเซีย และพบในทุกภาคของประเทศไทยตามป่าโปร่งทั่วไป ป่าเปิดใหม่ ที่ระดับสูงถึง 1,900 เมตร จากระดับน้ำทะเล 

ใบอีเหนียว ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยใบเดียว (ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ) ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีกว้างถึงรูปไข่ ปลายใบมน แหลม หรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือกลมเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร เนื้อใบบาง หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอมเทา มีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร 

ดอกอีเหนียว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งมีหลายกระจุก กระจุกหนึ่งมีดอกประมาณ 2-6 ดอก รวมเป็นช่อแยกแขนง ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมขาวหรือสีชมพู แกนกลางมีขนรูปตะขอโค้ง ใบประดับร่วงได้ง่ายทั้งคู่ ไม่มีใบประดับย่อย ก้านดอกย่อยยาว กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังกว้าง ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่วสีขาวถึงสีชมพูอ่อน กลีบดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกัน แยกเป็นสองมัด รังไข่มีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ออกดอกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม 

ผลอีเหนียว ออกผลเป็นฝักรูปแถบ ฝักมีลักษณะแบนโค้งงอเล็กน้อย แบ่งเป็นข้อ ๆ ฝักหนึ่งจะมี 7-9 ข้อ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร ตามผิวมีขนรูปตะขอโค้งสั้น เมล็ดอีเหนียวมีลักษณะเป็นรูปไต และมีเยื่อหุ้มเมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • มีรสหวานชุ่มเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาแก้เส้นเลือดอุดตัน 
  • มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงโลหิต 
  • ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด และช่วยลดระดับน้ำตาล
  • ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง 
  • ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ 
  • มีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ แก้ตัวร้อน 
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน 
  • สรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย 
  • ใช้เป็นยาแก้ลำไส้อักเสบ 
  • ใช้เป็นยาถ่าย 
  • ทั้งต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก 
  • ตำรายาไทยจะใช้รากอีเหนียวเป็นยาขับปัสสาวะ 
  • ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือประจำเดือนไม่มาของสตรี 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาลดนิ่วในท่อน้ำดีและไต 
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด 
  • ต้นหรือใบสดใช้ตำพอกรักษาแผล 
  • ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้ปลายประสาทผิวหนังอักเสบ 
  • ทั้งต้นหรือใบสดใช้ตำพอกเป็นยาถอนพิษสุนัขกัด 
  • ใช้เป็นยาแก้อาการปวด บวมช้ำ ฟกช้ำ 

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ให้นำทั้งต้นและใบประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม รากและก้านใช้ภายนอกได้ตามความเหมาะสม หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 20-35 กรัม สำหรับตำพอกแผล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1781&code_db=610010&code_type=01
  2. https://medthai.com/อีเหนียว