กระเจี๊ยบเขียว
  ชื่อสามัญภาษาไทยกระเจี๊ยบเขียว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษOkra, Gombo, Gumbo, Bendee, Quimbamto, Bhindi, Bamies
  ชื่อวิทยาศาสตร์Abelmoschus esculentus (L.) Moench
  ชื่อวงศ์Malvaceae
  ชื่อท้องถิ่นกระต้าด (สมุทรปราการ), กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือ มะเขือมอญ มะเขือทะวาย ทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ มะเขือขื่น มะเขือมื่น (ภาคเหนือ), ถั่วเละ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

กระเจี๊ยบเขียวจัดเป็นพืชล้มลุก อายุประมาณ 1 ปี มีระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอยแผ่ขยายไปด้านข้างและหยั่งลึกได้ถึง 30-60 ซม. ส่วนลำต้นจะตั้งตรงสูง 0.80-2 เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีขาวนวล ขาวเขียว หรืออาจมีสีแดงปน มีขนอ่อนขึ้นปกคลุม เปลือกลำต้นบาง แตกกิ่งน้อย กิ่งมีขนาดสั้นและมีขนขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกับลำต้น

ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ โดยจะออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบมีสีเขียวคล้ายรูปฝ่ามือรูปร่างกลมหรือเกือบกลมและมักเว้าเป็นสามแฉก แบบร่องลึกมีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใยออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบสากมือ ก้านใบยาว

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวโดยจะแทงออกบริเวณเหนือซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศเป็นรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลมมีสีเหลืองอมขาว บริเวณกลางดอกมีสีม่วง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาด 4-8 เซนติเมตร ดอกที่ผสมติดแล้ว กลีบดอกจะฝ่อและร่วงไปประมาณ 3-4 วัน

ผล ออกเป็นฝักรูปร่างห้าเหลี่ยมทรงกระบอกยาว 5-30 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ปลายเรียวแหลมลักษณะฝักโค้งงอเล็กน้อย มีขนปกคลุมภายในฝักพบเมล็ดจำนวนมาก

เมล็ด รูปร่างกลมคล้ายเมล็ดนุ่น โดยเมล็ดอ่อนจะมีสีขาวเหลือง ส่วนเมล็ดที่แก่แต่ยังไม่แห้งจะมีสีดำเป็นมันวาว และเมื่อเมล็ดแห้ง เมล็ดจะมีขนาดเล็กลงเล็กน้อย ผิวจะไม่มันวาวและมีสีดำอมเทา

สรรพคุณทั่วไป

  • ยาแก้พยาธิตัวจี๊ด ตำรับที่ 1 นำผลกระเจี๊ยบเขียวที่ยังอ่อนมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ต้มหรือย่างไฟให้สุก จิ้มกับน้ำพริก หรือทำแกงส้ม แกงเลียง กินวันละ 3 เวลาทุกวัน โดยจะกินเท่าไหร่ก็ได้ แต่อย่างน้อยวันละ 4-5 ผล ติดต่อกัน 15 วัน หรือบางคนต้องกินเป็นเดือนจึงจะหาย หรือตำรับที่ 2 ใช้รากกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเขียว ต้มกิน
  • ยารักษาโรคกระเพาะ ใช้ฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวหั่นตากแดด บดให้ละเอียด กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยนำมาละลายในน้ำ นม น้ำผลไม้ หรืออาหารอ่อนๆ กินวันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร (เวลาละลายจะได้น้ำยาเหนียวๆ)
  • ยาบำรุงข้อกระดูก นำผลกระเจี๊ยบเขียว 3 ผล กินสดหรือต้มกับหอมแดงขนาดใหญ่ 1 หัว เพื่อบำรุงร่างกายและเพิ่มความยืดหยุ่นในกระดูก โดยเชื่อว่าเมือกในกระเจี๊ยบจะช่วยได้
  • ยาแก้ปวดท้อง ใช้รากกระเจี๊ยบเขียวฝนกับน้ำธรรมดากิน
  • รักษาแผลสด ใช้ยางจากฝักผลสดทาแผลสด เมื่อถูกของมีคมบาด แผลจะหายไวและไม่เป็นแผลเป็น

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป



แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.orientalmed.net/15690015/กระเจี๊ยบเขียว
  2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี