หนามพรม
  ชื่อสามัญภาษาไทยหนามพรม
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษConkerberry, Bush Plum
  ชื่อวิทยาศาสตร์Carissa spinarum L.
  ชื่อพ้องCarissa cochinchinensis Pierre ex Pit., Carissa diffusa Roxb.
  ชื่อวงศ์Apocynaceae
  ชื่อท้องถิ่นขี้แฮด (ภาคเหนือ), พรม หนามพรม (ภาคกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหนามพรหม มีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย คือถ้าขึ้นต้นเดี่ยวๆ กลางแจ้ง จะมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม แต่ถ้าขึ้นใกล้กับต้นไม้ชนิดอื่นจะมีลักษณะกิ่งยืดเลื้อยพาดต้นไม้อื่น มีความสูงได้ตั้งแต่ 0.5-5 ม. ทุกส่วนเมื่อเกิดแผลจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น ตามกิ่งอ่อน ก้านใบและช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีหนามแหลมคมออกเป็นคู่ แตก 1-2 ชั้นยาว 1-3 ซม. 

ลักษณะใบของหนามพรหม เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน ใบรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ยาว 2-5 ซม. ปลายใบแหลมหรือมีติ่งหนาม โคนใบมน-กลม เนื้อใบหนา ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น ก้านใบ ยาว 1.5-4.5 มม. หนามพรม (หนามพรหม) ไม้ไทยดอกหอม มีหนามแหลม ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม 

ดอกหนามพรหม ออกดอกเป็นช่อดอกแบบกระจุก ยาว 1.5-4 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน รูปไข่ ยาว 1.5-3 มม. กลีบดอกสีขาว โคนเป็นหลอดยาว 0.5-2 ซม.ปลายแยก 5 แฉก รูปขอบขนาน ยาว 1-1.5 ซม. ปลายเรียวแหลม (ลักษณะคล้ายดอกมะลิ) ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 

ผลหนามพรหม มีลักษณะผลทรงรี กว้างและยาว 1-2 ซม. ผิวเรียบเกลี้ยง เป็นมันเงา ผลสุกสีแดงเข้ม มี 4 เมล็ดต่อผล เมื่อผลสุกเต็มที่สีแดงดำ



สรรพคุณทั่วไป

  • แก่นหนามพรมมีรสมันเบื่อ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง 
  • ส่วนเนื้อไม้มีรสเฝื่อนมันขมฝาด ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นเดียวกับแก่น 
  • แก่นมีสรรพคุณช่วยบำรุงไขมัน 
  • ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากของต้นหนามพรมผสมกับลำต้นไส้ไก่ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ใช้ผสมกับรากไส้ไก่ และรากนมแมว ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงในจมูก

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เนื้อไม้บำรุงกำลัง
  แก่นบำรุงกำลัง
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หนามพรม (Nam Phrom)”. หน้า 325. 
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “หนามพรม”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 188. 
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนามพรม”. หน้า 817. 
  4. ระบบต้นแบบศูนย์สมุนไพรเสมือนด้วยแอนนิเมชันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. “หนามพรม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: khaodanherb.com. [15 ก.ค. 2014]. 
  5. www.siamplants.com