กรวยป่า
  ชื่อสามัญภาษาไทยกรวยป่า
  ชื่อวิทยาศาสตร์Casearia grewiaefolia Vent
  ชื่อพ้องCasearia kerri Craib, Casearia oblonga Craib
  ชื่อวงศ์Salicaceae
  ชื่อท้องถิ่นตวย (เพชรบูรณ์), ตวยใหญ่ ตานเสี้ยน (พิษณุโลก), คอแ
 
ต้นกรวยป่า
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ต้นกรวยป่า
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ใบกรวยป่า
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ใบกรวยป่า
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    พรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร รูปทรงโปร่ง ออกกิ่งตั้งฉากกับลำต้น ลำต้นเปลาตรง มีลายสีขาวปนดำ คล้ายตัวแลนหรือตะกวด บางท้องที่จึงเรียกว่า “คอแลน” เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีเทา สีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป กิ่งอ่อนมีขนสั้น หนานุ่ม สีน้ำตาลแดง มีน้ำยางสีขาวใส ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว ต้นที่มีอายุมาก โคนต้นมักมีพูพอน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนถึงหมู่เกาะในภูมิภาคเมลานีเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบ และป่าทุ่งทั่วไปจนถึงพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร

    ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนานหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนกว้าง มักเว้าเล็กน้อยที่รอยต่อก้านใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นถี่ตื้น ๆ แผ่นใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร เนื้อใบหนา แผ่นใบเรียบ แผ่ หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันหรือมีขนเล็กน้อยที่เส้นกลางใบ ส่วนท้องใบมีขนสั้นขึ้นปกคลุมทั่วไป เส้นกลางใบเรียบหรือเป็นร่องทางด้านบน ด้านล่างนูนเห็นได้ชัด เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-14 เส้น แผ่นใบมีต่อมเป็นจุดและขีดสั้น ๆ กระจัดกระจายทั่วไป เมื่อส่องดูกับแสงสว่างจะโปร่งแสงก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มหรือเกือบเกลี้ยง หูใบมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ร่วงง่าย

    ออกดอกเป็นกระจุก กระจุกละ 2-8 ดอก โดยจะออกตามซอกใบที่หลุดร่วงไปแล้ว ก้านดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศสีขาวหรือสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับมีจำนวนมาก มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอกขนาดเล็กมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว รูปงองุ้ม แต่ละกลีบจะไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนแน่น ส่วนด้านในเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน มีขนสั้นนุ่มเล็กน้อยหรือเกลี้ยง ตรงกลางมีแกนเป็นรูปเจดีย์คว่ำ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน เป็นรูปขอบขนาน มีขนหนาแน่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกลมเกลี้ยง หรือมีขนยาวห่าง มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

    ผลเป็นผลแบบมีเนื้อ เมื่อแห้งจะแตกออก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผิวผลมันเรียบ เปลือกผลหนา เมื่อสุกแล้วจะมีสีเหลืองและจะแตกอ้าออกเป็น 3 ซีก บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า “ผ่าสาม” (มีแนวแตกกลางผล)

    ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงสด เมล็ดมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร รูปร่างดูคล้ายผีเสื้อ หัวท้ายมน ผิวเมล็ดแข็งและเรียบเป็นมัน เป็นผลในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกมีรสเมาขื่น ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต เป็นยาคุมธาตุ (เปลือก) ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ เช่นเดียวกับเปลือก
  • ผลใช้เป็นยาฟอกโลหิต
  • ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอก)
  • ดอกและใบมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้ไข้พิษหรือพิษไข้ตัวร้อน (ใบ, ดอก)
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้กาฬ พิษกาฬ พิษอักเสบจากหัวกาฬ (ราก, ใบ, ดอก)
  • ใบใช้ผสมกับใบยาสูบ มวนสูบเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองขึ้นในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) (ใบ) ส่วนน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกด้วยเช่นกัน
  • ผลใช้เป็นยาแก้น้ำลายเหนียว แก้เสมหะเป็นพิษ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน (ผล)
  • เปลือกใช้เป็นยาขับผายลม (เปลือก)
  • รากและเปลือกมีรสเมาขื่นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก, เปลือก) บ้างใช้ทั้งใบและรากเป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบและราก)
  • ผลใช้เป็นยาแก้บิดปวดเบ่ง แก้ลงท้อง (ผล)
  • ใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (ราก)
  • ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก, เมล็ด)
  • รากใช้เป็นยาบำรุงตับ แก้ตับพิการ (ความผิดปกติของตับ) (ราก)
  • เปลือกใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือก)
  • ใบใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังผื่นคันที่มีตัว เช่น กลาก เกลื้อน หิด ผดผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยรักษามะเร็งลาม แก้บาดแผล นำมาหุงเป็นน้ำมันทาบาดแผลและผิวหนังติดเชื้อโรค (ใบ) ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผื่นคันเช่นเดียวกับใบ (ราก)
  • น้ำมันที่ได้จากเมล็ดที่ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
  • เมล็ดมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พยาธิผิวหนัง (เมล็ด)
  • ใบและดอกใช้เป็นยาแก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ (ใบและดอก)

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ผลใช้เป็นยาฟอกโลหิต ยาแก้บิดปวดเบ่ง แก้ลงท้อง เป็นยาแก้น้ำลายเหนียว แก้เสมหะเป็นพิษ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน 
  เปลือกเปลือกมีรสเมาขื่น ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต เป็นยาคุมธาตุ เป็นยาขับผายลม
  ใบใบใช้ผสมกับใบยาสูบ มวนสูบเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองขึ้นในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังผื่นคันที่มีตัว เช่น กลาก เกลื้อน หิด ผดผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยรักษามะเร็งลาม แก้บาดแผล นำมาหุงเป็นน้ำมันทาบาดแผลและผิวหนังติดเชื้อโรค
  ดอกดอกใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษกาฬ พิษไข้ตัวร้อน
  รากรากใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด ยาบำรุงตับ แก้ตับพิการ (ความผิดปกติของตับ) มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผื่นคันเช่นเดียวกับใบ และมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุเช่นเดียวกับเปลือก
  เมล็ดเมล็ดมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พยาธิผิวหนัง แก้โรคผิวหนัง แก้ริดสีดวงทวาร  แก้ริดสีดวงจมูก ใช้เบื่อปลา น้ำมันที่ได้จากเมล็ดที่ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนังได้
  ใบและดอกยาแก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กรวยป่า (Kruai Pa)”.  หน้า 17.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กรวยป่า”.  หน้า 55.
3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กรวยป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [09 ก.ค. 2015].
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ผ่าสาม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [09 ก.ค. 2015].
5. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กรวยป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [09 ก.ค. 2015].
5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กรวยป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [09 ก.ค. 2015].