กวาวเครือแดง
  ชื่อสามัญภาษาไทยกวาวเครือแดง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Butea superba Roxb
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นกวาวเครือ กวาวหัว ตานจอมทอง จานเครือ จอมทอง ไพมือ ไพ้ตะกุ
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    กวาวเครือแดงจัดเป็นไม้เถายืนต้นขนาดใหญ่ อายุยิ่งมากเท่าไหร่ เถาก็จะยิ่งใหญ่และกลายเป็นต้น แต่ยังส่งเถาเลื้อยไปพาดพันตามต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ

    ลักษณะของใบคล้ายใบทองกวาว แต่ใบจะใหญ่กว่ามาก แต่ถ้าเป็นใบอ่อนจะมีขนาดเท่ากับใบพลวงหรือใบของต้นสัก ส่วนต้นหากใช้มีดฟันจะมียางสีแดงคล้ายโลหิตออกมา

    หากขุดโคนต้น ก็จะพบรากขนาดใหญ่เท่าน่องขาเลื้อยออกมาจากต้นโดยรอบ มีความยาวประมาณ 2 วา ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของลำต้น สมุนไพรชนิดนี้จะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ ไล่ตั้งแต่ชายแดนไทย-พม่าตรงถึงภาคเหนือ เป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามภูเขาสูง และในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธุ์

    ออกดอกเป็นดอกสีส้มเหลืองคล้ายดอกทองกวาวบานสะพรั่งอยู่บนยอดดอย แต่ในปัจจุบันใช่ว่าจะหาได้ง่ายนัก เพราะมีไม่มากเท่ากวาวเครือขาว

สรรพคุณทั่วไป

  • หัวกวาวเครือแดง มีรสเย็นเบื่อเมา ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกาย และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ 
  • ช่วยทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมีอายุยืนยาวขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายและเนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง
  • ผลช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกาย 
  • หัวช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสุขภาพเนื้อหนังให้เต่งตึง 
  • หัวช่วยทำให้หน้าอกโต 
  • หัวช่วยบำรุงกำหนัดหรือเพิ่มความต้องการทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับฤทธิ์ของซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Sidenal Citrate) ของยาไวอากรา (Viagra) 
  • กวาวเครือแดงมีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียน 
  • ใบและรากกวาวเครือแดงช่วยทำให้นอนหลับและเสพติด 
  • ช่วยบำรุงสายตา 
  • รากและต้นช่วยแก้โลหิต
  • รากและต้นช่วยแก้ลมอัมพาต 
  • เปลือกช่วยแก้อาการปวดฟัน 
  • เปลือกช่วยแก้ไข้ 
  • ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ 
  • เปลือกช่วยขับเสมหะ 
  • ผลช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้อาการลงท้อง แก้สะพั้น 
  • ผลช่วยแก้ตัวพยาธิ 
  • หัวช่วยแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย 
  • เปลือกเถากวาวเครือแดงมีรสเย็นเบื่อเมา ช่วยแก้พิษงู 
  • กวาวเครือแดงจัดอยู่ในตำรับยาสมุนไพร “พิกัดเนาวโลหะ” ซึ่งประกอบไปด้วย รากกวาวเครือแดง รากขันทองพยาบาท รากทองกวาว รากทองพันชั่ง รากทองโหลง รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากใบทอง และรากจำปาทอง โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ แก้ลม ลมที่เป็นพิษ ดับพิษ ช่วยชำระล้างลำไส้ สมานลำไส้ แก้โรคดี แก้โรคตับ แก้ริดสีดวงทวาร และขับระดูร้าย
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ระบุว่ากวาวเครือแดงมีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน ช่วยกดการทำงานของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว เพิ่มความดันโลหิต และช่วยกระตุ้นการหายใจ

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [16 ต.ค. 2013].
  2. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กวาวเครือแดงแรงฤทธิ์ ข่าวดีสำหรับบุรุษ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [16 ต.ค. 2013].
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  สมุนไพรในร้านขายยา.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [16 ต.ค. 2013].
  4. กิจการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  “กวาวเครือ ใช่แค่อึ๋มปึ๋งปั๋งยังบํารุงเส้นผม“.  (รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.research.chula.ac.th.  [16 ต.ค. 2013].
  5. โรงเรียนมัธยมบึงปรือ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/mattayommb.  [16 ต.ค. 2013].
  6. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [16 ต.ค. 2013].
  7. สถาบันวิจัยสมุนไพร.  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  “พิษเรื้อรังของกวาวเครือแดง“.  ทรงพล ชีวะพัฒน์, ปราณี ชวลิตธำรง, สมเกียรติ ปัญญามัง, สดุดี รัตนจรัสโรจน์, เรวดี บุตราภรณ์
  8. “กวาวเครือ ยอดสมุนไพรไทย“.  (สันยาสี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sanyasi.org.  [16 ต.ค. 2013].