หูกวาง
  ชื่อสามัญภาษาไทยหูกวาง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBengal almond, Indian almond, Olive-bark tree, Sea almond, Singapore almond, Tropical Almond, Umbrella Tree
  ชื่อวิทยาศาสตร์Terminalia catappa L.
  ชื่อวงศ์Combretaceae
  ชื่อท้องถิ่นตาปัง (พิษณุโลก, สตูล), โคน (นราธิวาส), หลุมปัง (สุราษฎร์ธานี), คัดมือ ตัดมือ (ตรัง), ตาแปห์ (มลายู-นราธิวาส)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหูกวาง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร บางครั้งอาจสูงได้ถึง 30-35 เมตร (แต่ไม่ค่อยพบต้นที่ใหญ่มากในประเทศไทย) มีเรือนยอดหนาแน่น แตกกิ่งก้านแผ่ออกในแนวราบเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร ลำต้นเปลาตรง ต้นที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่จะเป็นพูพอนที่โคนต้น เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาเกือบเรียบ แตกเป็นร่องแบบตื้น ๆ ตามแนวนอนและแนวตั้ง และลอกออกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดง เป็นกลีบเล็กน้อย มีเสี้ยนไม้ละเอียดสามารถขัดชักเงาได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด บางครั้งน้ำหรือค้างคาวก็ช่วยในกระจายพันธุ์ได้ด้วยเช่นกัน และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดีอย่างดินร่วนพอควรหรือปนทราย หูกวางเป็นพันธุ์ไม้ในป่าชายหาดที่พบขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล พบปลูกทั่วตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียทางตอนเหนือ ต้นหูกวางเป็นพืชทิ้งใบ โดยทั่วไปแล้วจะทิ้งใบ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี หรือในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือยกุมภาพันธ์ และอีกช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งก่อนขจะทิ้งใบ 

ใบหูกวางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำต้นหูกวางมาปลูกทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนอย่างทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยมักพบขึ้นตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ตราดและชลบุรี) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี) และภาคใต้ (นราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี) ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็นกระจุกหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ (ปลายใบกว้างกว่าโคนใบ) โคนใบมนเว้าหรืแสอบแคบเป็นรูปลิ่ม และมีต่อมเล็ก ๆ หนึ่งคู่อยู่ที่โคนใบบริเวณท้องใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขน เนื้อใบหนา ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นเขียวเข้ม แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงเมื่อใกล้ร่วงหรือผลัดใบ มีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีขน มักผลัดใบในช่วงฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 

ออกดอกเป็นช่อยาวแบบติดดอกสลับ โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นแท่งยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีขนาดเล็กและไม่มีกลิ่นหอม (บางข้อมูลว่ามีกลิ่นฉุนด้วยเล็กน้อย) ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะอยู่บริเวณปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ (อีกข้อมูลระบุว่าดอกแบบสมบูรณ์จะอยู่โคนช่อ) ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก มีขนด้านนอก ดอกเกสรเพศผู้มี 10 ชั้น ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร โดยดอกจะออกดอกสองครั้งรอบ 1 ปี คือ ในช่วงฤดูหนาวหลังจากแตกใบใหม่ (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) และอีกครั้งในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม) ผลเป็นผลเดี่ยวในแต่ละผลมีเมล็ด 1 เมล็ด 

ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแบนเล็กน้อย ผลแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผลด้านข้างเป็นแผ่นหรือเป็นสันบาง ๆ นูนออกรอบผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว และมีกลิ่นหอม ผิวผลเรียบ ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ เปลือกผลมีเส้นใย ภายในมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดมีขนาดใหญ่ เหนียว และเปลือกในแข็ง โดยผลจะแก่ในช่วงในช่วงแรกประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และอีกช่วงหนึ่งประมาณพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 

ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรี แบนป้อมเล็กน้อยคล้ายกับผล เมื่อเมล็ดแห้งจะเป็นสีน้ำตาล แข็ง ภายในมีเนื้อมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ 
  • ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ 
  • ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด นำมาทาหน้าอกจะช่วยแก้อาการเจ็บหน้าอก หรือใช้ทาไขข้อและส่วนของร่างกายที่หมดความรู้สึก 
  • เปลือกมีรสฝาด สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ท้องเสีย 
  • ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด 
  • ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย 
  • ผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย 
  • ใบที่มีสีแดงจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ 
  • ใบใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินอาหารและตับ
  • บางข้อมูลระบุว่าเมล็ดใช้รับประทานเป็นยาแก้ขัดเบา แก้นิ่วได้ 
  • เปลือกใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี 
  • รากมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาตามปกติ 
  • ช่วยรักษาโรคโกนีเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) 
  • เปลือกและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาสมาน 
  • ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด เป็นยารักษาโรคเรื้อน 
  • ใช้แก้โรคคุดทะราด 
  • ใบมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ 
  • ช่วยขับน้ำนมของสตรี

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หูกวาง (Hu Kwang)”.  หน้า 335.
  2. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “หูกวาง”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [18 ก.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “หูกวาง”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [18 ก.ค. 2014].
  4. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “หูกวาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [18 ก.ค. 2014].
  5. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “หูกวาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [18 ก.ค. 2014].
  6. โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม จังหวัดนครสวรรค์.  “ต้นหูกวาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.chaiwbi.com.  [18 ก.ค. 2014].