โหระพา
  ชื่อสามัญภาษาไทยโหระพา
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษSweet Basil, Thai Basil
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ocimum basilicum Linn.
  ชื่อวงศ์Labiatae
  ชื่อท้องถิ่นโหระพาไทย, โหรพาเทศ (ทั่วไป), กอมก้อ (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), อิ่มคิมขาว (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), ห่อวอซุ,ห่อกวยซวย (กะเหรี่ยง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    โหระพาจัดเป็นพืชล้มลุก มีระบบรากแก้ว และรากฝอย ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-100ซม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แก่นด้านในเป็นไม้เนื้ออ่อน ผิวลำต้นอ่อนหรือกิ่งอ่อนมีสีม่วงแดง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำของลำต้นจนแลดูเป็นทรงพุ่ม กิ่งแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน

    ใบโหระพาออกเป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อของกิ่ง ใบมีรูปไข่ คล้ายใบกะเพรา ใบมีสีเขียวเข้มหรือม่วงแดงหรือเขียวอมม่วง กว้างประมาณ 3-4 ซม. ยาวประมาณ 6 ซม. โคนใบมน ใบปลายแหลม แผ่นใบเรียบ และค่อนข้างเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบไม่มีขน ใบมีน้ำมันหอมระเหยทำให้มีกลิ่นหอม  

    ดอกมีสีขาวหรือชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 7-12 เซนติเมตร มีใบประดับสีเขียวอมม่วงซึ่งจะคงอยู่เมื่อเป็นผล กลีบดอกมีโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน เกสรตัวผู้ 4 อัน  

    ผลเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ด 4 เมล็ด ซึ่งเมล็ดเป็นรูปกลมรียาวประมาณ 2 มม.
สรรพคุณทั่วไป

  • ใบสดโหระพาใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย
  • ช่วยป้องกันความเสียหายในร่างกายของเราจากการทำลายของอนุมูลอิสระ
  • ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
  • มีส่วนในการช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
  • มีฤทธิ์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลและแผ่นคราบพลัคในกระแสเลือด
  • มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  • ช่วยขับหัวสิวและต้านการเจริญเติบโตของเชื้อสิว
  • ช่วยในการเจริญอาหาร
  • ใช้เป็นยาพอกเพื่อดูดซับสารพิษออกจากผิวหนังได้
  • ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมสำหรับมารดาที่ให้นมบุตร ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำนมราชสีห์รับประทาน
  • มีความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงสุขภาพทางเพศได้อีกด้วย
  • ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะด้วยการใช้ยอดอ่อนต้มกับน้ำ แล้วนำมาดื่มเป็นชา หรือกินเป็นผักสด
  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะด้วยการนำใบมาต้มดื่ม
  • น้ำมันโหระพามีคุณสมบัติช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิ และช่วยลดอาการซึมเศร้า
  • ช่วยรักษาโรคตาแดง ต้อตา มีขี้ตามาก
  • ช่วยแก้หวัดและช่วยในการขับเหงื่อ ด้วยการนำใบและต้นสดมาต้มเข้าด้วยกันแล้วเอาน้ำมาดื่ม
  • ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ด้วยการนำใบโหระพามาคั้นเอาน้ำสดให้ได้ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำอ้อย 2 ช้อนผสมกับน้ำอุ่น แล้วนำมาดื่มวันละ 2 ครั้ง
  • ใช้รักษาอาการเหงือกอักเสบเป็นหนอง ด้วยการนำใบโหระพาแห้งมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาทาในบริเวณที่อักเสบ
  • ใช้แก้อาการสะอึก ด้วยการนำใบโหระพาสดพร้อมขิงสดแช่ในน้ำเดือดแล้วนำมาดื่มในขณะที่ยังร้อน
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำเมล็ดแก่มาแช่น้ำให้พองเต็มที่ แล้วนำมารับประทานกับขนมหวานโดยผสมกับน้ำหวานและน้ำแข็ง
  • ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการนำเมล็ดแห้งประมาณ 3-5 กรัมมาต้มน้ำดื่ม
  • ช่วยในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร เพราะไปช่วยยับยั้งฤทธิ์ของยาแอสไพรินซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ช่วยในการขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • เมล็ดโหระพาเมื่อแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือก นำมากินแก้อาการบิด
  • น้ำมันโหระพามีคุณสมบัติแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง
  • น้ำมันหอมระเหยของใบจะช่วยในการย่อยอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี
  • ถ้าเด็กปวดท้อง ให้ใช้ใบโหระพา 20 ใบชงน้ำร้อนแล้วนำมาชงนมให้เด็กดื่มแทนยาขับลม
  • ใช้แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • นำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการผึ้งต่อย
  • ช่วยรักษาอาการผดผื่นคัน มีน้ำเหลือง ด้วยการนำมาใบตำแล้วพอก
  • ช่วยแก้เด็กเป็นแผล หรือมีหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้รากของโหระพามาเผาเป็นเถ้าแล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล
  • ช่วยแก้อาการฟกช้ำจากการกระทบกระแทก หกล้ม งูกัด ด้วยการนำมาใบตำแล้วพอก
  • สรรพคุณของโหระพาเมล็ดเมื่อนำมาแช่น้ำจะพองเป็นเมือก นำมาใช้เป็นยาระบาย เพราะไปช่วยเพิ่มจำนวนกากอาหาร
  • น้ำมันโหระพาช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส
  • น้ำมันโหระพาช่วยคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ทั้งต้น - แห้ง 6-10 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือใช้สดคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ตำพอก หรือต้มน้ำชะล้าง หรือเผาเป็นเถ้า บดเป็นผง ผสมทา
  • เมล็ด - แห้ง 2.5-5 กรัม ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม ใช้ภายนอก บดเป็นผงแต้มทา
  • ราก - เผา เป็นเถ้าพอก
  • ใบ - ใช้ใบคั้นเอาน้ำ 2-4 กรัม ผสมน้ำผึ้ง จิบแก้ไอและหลอดลมอักเสบ - ใช้สำลีก้อนเล็กๆ ชุบน้ำคั้นจากใบอุดโพรงฟันที่ปวด แก้ปวดฟัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.โหระพา คุณค่าที่มากกว่าความอร่อย.คอลัมน์ บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 356.ธันวาคม 2551.
  2. โหระพาปกป้องสมองจากภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง,(2550).กรุงเทพฯ:บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.
  4. เดชา ศิริภัทร.โหระพา ผักใบที่มีกลิ่นหอมหวานและหลากสายพันธุ์.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 216.พฤษภาคม.2540.
  5. โหระพา สรรพคุณและการปลูกโหระพา.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com
  6. โหระพา.กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/
  7. โหระพาผักพื้นบ้านสรรพคุณทางการรักษา.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com