โทงเทง
  ชื่อสามัญภาษาไทยโทงเทง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Physalis angulata var. angulata
  ชื่อพ้องPhysalis minima L.
  ชื่อวงศ์Annonaceae
  ชื่อท้องถิ่นโทงเทงไทย โทงเทงน้ำ ทุงทิง ทุ้งทิ้ง ปุงปิง พุ้งพิ้ง โคมจีน โคมญี่ปุ่น ต็งอั้งเช้า เผาะแผะ มะก่องเช้า หญ้าถงเถง หญ้าต้อมต้อก หญ้าต้อมต๊อก (ไทย), กิมเต็งลั้ง ขั่วกิมเต็ง ซึงเจี่ย เต็งอั้งเช้า เทียงผาเช้า หลกซิ้งจู อั้งโกวเนี้ย อ้วงบ๊อจู (จีน), เทียนพ่าวจื่อ เติงหลงเปา สุ่ยเติงหลง (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ต้นโทงเทง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร ทั้งต้นปกคลุมไปด้วยขน แตกกิ่งก้านบริเวณยอด ก้านมีขนาดเล็ก โทงเทงชนิดนี้มักพบขึ้นบริเวณริมน้ำ บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า “โทงเทงน้ำ"
    ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นลอน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร หน้าใบมีเส้นใบคล้ายขนนก ผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร

    ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกบริเวณซอกใบ ดอกเป็นรูปปากแตร แตกออกเป็น 5 แฉกที่ปลายกลีบดอก ปลายดอกคล้ายรูปห้าเหลี่ยม ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมียอีก 1 อัน

    ผลออกบริเวณซอกใบ มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ภายในมีผลสีเหลือง ในผลมีเมล็ดรูปกลมแบน สีขาวอมเขียว

สรรพคุณทั่วไป

  • ทั้งต้นและผลมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการร้อนใน ไอร้อน กระหายน้ำวิเศษ
  • ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ ใช้เป็นยาแก้คางทูม ด้วยการใช้โทงเทง และหูปลาช่อน อย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน จากตำรา “ซีกเองตงเอียะฉิ่วแฉะ” ระบุว่า โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ให้ใช้โทงเทงอิงถิ่น และชะเอม อย่างละ 2 สลึง นำมาต้มกับน้ำกินก็หาย
  • ทั้งต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำเล็กน้อยละลายกับเหล้า ชุบสำลีอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อยเป็นยาแก้ฝีในคอ พิษฝีขึ้นในคอ ใช้เป็นยาแก้ฝีในปอด ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย
  • ทั้งต้นและผลมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ดีซ่าน ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ จากการใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ดีซ่าน ด้วยการใช้โทงเทง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน พบว่าอาการตัวเหลืองหายเป็นปกติ
  • ทั้งต้นสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกรักษาฝีหนอง ฝีอักเสบมีพิษ ผดผื่นคัน หรือถ้ามีแผลด้วยก็ต้มเอาน้ำล้างแผล
  • ต้นสดนำมาตำละลายกับน้ำหรือเหล้าใช้เป็นยาทาแก้พิษฝี แก้ฟกบวมอักเสบ ทำให้เย็น

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โทงเทงน้ำ”. หน้า 284.
  2. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หญ้าต้อมต้อก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [04 ธ.ค. 2014].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4 คอลัมน์ : สมุนไพรน่ารู้. “โทงเทง สมุนไพรข้างถนน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [04 ธ.ค. 2014].