หมีเหม็น
  ชื่อสามัญภาษาไทยหมีเหม็น
  ชื่อวิทยาศาสตร์Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.
  ชื่อพ้องLitsea chinensis Lam., Litsea sebifera Pers.
  ชื่อวงศ์Lauraceae
  ชื่อท้องถิ่นหมูเหม็น (แพร่), ดอกจุ๋ม (ลำปาง), หมี (อุดรธานี, ลำปาง), ตังสีไพร (พิษณุโลก), อีเหม็น (กาญจนบุรี, ราชบุรี), หมูทะลวง (จันทบุรี), มะเน้อ ยุบเหยา (ภาคเหนือ, ชลบุรี), ทังบวน (ปัตตานี), มัน (ตรัง), มะเย้ย ไม้หมี่ (คนเมือง), ไม้ต๊องช้าง (ไทยใหญ่), ลำหญุบหญอ (ลั้วะ), มือเบาะ (มลายู-ยะลา), ส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมีเหม็น
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหมีเหม็น จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ลำต้นแก่แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าดงดิบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มักออกเป็นกลุ่มหนาแน่นที่ปลายกิ่ง 

ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเป็นครีบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ตามก้านใบมีขน ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น 

ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกย่อยประมาณ 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-20 อัน เรียงเป็นชั้น ๆ ก้านเกสรมีขน ชั้นในมีต่อมกลม ๆ อับเรณูเป็นรูปรี มี 4 ช่อง เกสรเพศเมียเป็นหมันอยู่ตรงกลาง อับเรณูเป็นแบบฝาเปิด กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปกลม ส่วนช่อดอกเพศเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่มี ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร เกสรเพศผู้เป็นหมัน ลักษณะเป็นรูปช้อน ส่วนเกสรเพศเมียไม่มีขน รังไข่เป็นรูปไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ปลายเกสรเพศเมียเป็นรูปจาน มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกจากกัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม มีกลิ่นเหม็น 

ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีม่วงเข้มเกือบดำ ก้านผลมีขน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็ง ช่อหนึ่งมีผลประมาณ 3-5 ผล

สรรพคุณทั่วไป

ตำรายาไทยจะใช้
  • รากต้นหมี่เป็นยาบำรุงกำลัง 
  • รากใช้เป็นยาแก้ไข้ออกฝีเครือ 
  • เปลือกสดใช้อมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ช่วยแก้ลมเป็นก้อนในท้อง 
  • รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องร่วง 
  • เปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาปัสสาวะ ช่วยแก้ริดสีดวงแตก 
  • เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดมดลูกของสตรี ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เปลือกต้มดื่มแก้บิด แก้ปวดมดลูก
  ต้นต้มดื่มแก้บิด แก้ปวดมดลูก
  เมล็ดตำพอกแก้ฝี
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ตำรายาไทย 
  • ใบ ขยี้กับน้ำ สระผม พอกศีรษะ ฆ่าเหา ขับปัสสาวะ แก้อาการระคายเคืองของผิวหนัง
  • ใบและเมล็ด มีรสฝาดเฝื่อน ตำพอกฝี แผลหนอง แก้ปวด 
  • ราก เป็นยาฝาดสมาน และบำรุงกำลัง 
  • เปลือกต้น เป็นยาฝาดสมาน แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดมดลูก แก้เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ฝนทาแก้พิษแมลงกัดต่อย ผื่นคันแสบร้อน บดเป็นผงผสมกับน้ำหรือน้ำนมทาแก้แผลอักเสบ 
  • ผลดิบ ให้น้ำมันเป็นยาถูนวดแก้ปวด 
  • เมล็ด ตำเป็นยาพอกฝี 
  • ราก แก้ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ยาง มีรสฝาดร้อน ตำพอกทาแก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวม 
ตำรายาพื้นบ้านอำนาจเจริญใช้ 
  • ราก รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ฝนทาฝี 
  • เปลือก ฝนทาแก้ฝี 
  • ใบเป็นยาสระผม 
  • ใบย้อมผ้าให้สีเขียว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=127
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หมีเหม็น (Mi Men)”. หน้า 329. 
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “หมีเหม็น”. หน้า 189. 
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หมี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [28 ก.ย. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หมีเหม็น”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [28 ก.ย. 2014]. 
  6. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หมีเหม็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [28 ก.ย. 2014]. 
  7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “การนำสมุนไพรใบหมี่มาใช้ทางเครื่องสำอาง APPLICATION OF BAI MEE (Litsea glutinosa) IN COSMETICS”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ist.cmu.ac.th/researchunit/pcrnc/. [28 ก.ย. 2014]. 
  8. ลานปัญญา. (by bangsai). “ต้นหมี่…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lanpanya.com/proiad/archives/152. [28 ก.ย. 2014].