กะเพราป่า
  ชื่อสามัญภาษาไทยกะเพราป่า
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษHoly basil, Thai basil, Sacred basil.
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ocimum tenuiflorum L
  ชื่อวงศ์Labiatae
  ชื่อท้องถิ่นเชียงใหม่ ก้อมก้อ, ก้อมก้อดง กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ห่อกวอซู, ห่อตูปลู เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน อิ่มคิมหลำ ภาคกลาง กะเพรา, กะเพราขน, กะเพราขาว, กะเพราแดง ภาคอีสาน อีตู่ไทย
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    กะเพราป่าไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.3 – 1.0 เมตร ลำต้นตั้งตรง ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โคนต้นแข็ง มีขนคลุมทั่ว แตกกิ่งก้านสาขามาก และมีกลิ่นหอมแรง กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราะแดง กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่า กะเพราขาว มีใบและลำต้นสีเขียว และกะเพราะแดง มีใบและลำต้นสีแดงอมเขียว
    ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงข้ามในแต่ละข้อของลำต้นและกิ่ง ลักษณะใบรูปรีหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบบางสีเขียวหรือสีแดง และมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบสีเขียวหรือสีแดงแล้วแต่พันธุ์
    ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกช่อที่ยอดหรือปลายกิ่ง ริ้วประดับรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบมีขน ดอกย่อยแบบสมมาตรด้านข้าง ก้านดอกโค้งยาวมีขน มีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นปาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงหรือสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีแฉกมนๆ 4 แฉก ปากล่างโค้งลง แบน ขอบเรียบ ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว
    ผล เป็นแบบผลเปลือกแห้งเมล็ดเดียว มีขนาดเล็ก ปลายมน เกลี้ยง เมล็ด มีขนาดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาลมีจุดสีเข้ม หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของเมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง ทำให้เรอ
  • แก้ท้องร่วง แก้คลื่นไส้อาเจียน
  • ช่วยขับเสมหะ ขับเหงื่อ
  • แก้โรคผิวหนัง แก้อาการปวดท้องในเด็กทารก
  • เป็นยาเพิ่มน้ำนมสตรีหลังคลอด ขับน้ำนม บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง
  • แก้ปวดฟัน
  • ทาผิวหนังแก้กลากเกลื้อนและโรคผิวหนังอื่น ๆ ใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู
  • เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยารักษาหูด

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • กะเพราใช้ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ปวดท้อง โดยใช้ใบสด 1 กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม หรือใบแห้ง 4 กรัม ต้มให้เดือด เอาแต่น้ำดื่ม หรือจะใช้ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน
  • ในเด็กอ่อนใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา
  • ใช้ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) โดยใช้ใบและยอดสด 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มหรือใช้กะเพราทั้ง 5 ทั้งสด หรือ แห้ง ชงน้ำดื่ม รับประทานเด็กอ่อน ใช้ใบสด 3-4 ใบ ผู้ใหญ่ ใบแห้ง 1 กำมือ หรือ ใบสด 25 กรัม หรือ ผงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 ช้อนแกง
  • ใช้แบบยาภายใน เด็กอ่อน - ใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลม และถ่ายขี้เทา
  • ผู้ใหญ่ - ใช้ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่ม เป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผง ให้ชงกับน้ำรับประ ใช้แบบยาภายนอก ใช้ใบสดทาบริเวณท้องเด็กอ่อน จะลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้หรือใช้ใบสดคั้นกับหาหิงส์ทารอบ ๆ สะดือ และฝ่าเท้าก็ใช้ได้เช่นกัน ยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอดใช้ใบกะเพราสด 1 กำมือ แกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อนใช้ใบสด 15-20 ใบ ตำหรือขยี้ให้น้ำออกมา ใช้ทาถูตรงบริเวณที่เป็นกลาก ทาวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
  • ใช้เป็นยารักษาหูดใช้ใบกะเพราแดงสด ขยี้ทาตรงหัวหูด เข้า-เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุด
  • เมล็ดกะเพราเมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว เมือกนี้สามารถใช้พอกบริเวณตาเมื่อตามีผลหรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาช้ำอีกด้วย
  • ใช้รากกะเพราที่แห้งดีแล้วนำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่มซึ่งสามารถใช้บรรเทาโรคธาตุพิการหรืออาหารไม่ย่อยได้
  • ช่วยแก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบกะเพราประมาณ 1 กำมือนำมาตำผสมเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
  • ใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้ไล่หรือฆ่ายุงใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด 1 กิ่งใหญ่ ๆ เอาใบมารขยี้ แล้ววางไว้ใกล้ๆ ตัว จะช่วยไล่ยุงได้ และยังสามารถไล่แมลงได้ด้วย
  • น้ำมันกะเพรา เอาใบสดมากลั่น จะได้น้ำมันกะเพรา ซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสด ๆ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ภญ.อัจฉรา แหลงทอง. สมุนไพรใกล้ตัว. หน้า 13. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551).
  2. สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 73. กะเพรา.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.กะเพรา ราชินีสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่355.คอลัมน์บทความพิเศษ.พฤศจิกายน.2555
  4. รัตติพร กายเพชร, ธนิยา หมวดเชียงคะ, ไพรินทร์ ต้นพุฒ.ฤทธิ์การต้านเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ของน้ำมันหอมระเหยกะเพรา. วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล. 2558;35(3):311-319. กะเพราแดง.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์อุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaocrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=9 สุกัญญา เขียวสะอาด.กะเพรากับการต้านอนุมูลอิสระ. วารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง. 2555;21(2):54-65.
  5. กะเพรา.กลุ่มยาแก้อาเจียน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.espg.go.th/plants_data/herbs_11.htm
  6. กะเพราและการปลูกกะเพรา.พืชเกษตรดอทคอม
  7. เว็บเพื่อพืชเกษตรกรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.