ประยงค์
  ชื่อสามัญภาษาไทยประยงค์
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษChinese rice flower
  ชื่อวิทยาศาสตร์Aglaia odorata Lour.
  ชื่อวงศ์Meliaceae
  ชื่อท้องถิ่นขะยง ขะยม พะยงค์ ยม (ภาคเหนือ) ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง) หอมไกล (ภาคใต้)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ประยงค์เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกต้นเรียบ สีเทา 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ รูปรี ปลายใบมน โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน ก้านใบแผ่ออกเป็นปีก 

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกสีเหลือง กลีบดอกมี 6 กลีบ ซ้อนกันเป็นรูปทรงกลมไม่บาน 

ผล รูปทรงกลมรี ผิวเรียบเป็นมัน ผลอ่อนสีเหลืองอ่อน ผลสุกสีแดง เมล็ดเดี่ยว สีน้ำตาล

สรรพคุณทั่วไป

  • ในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้รากและใบนำมาต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ผอมแห้งแรงน้อย 
  • ดอกมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้หูตาสว่าง จิตใจปลอดโปร่ง แก้อาการเมาค้าง 
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ดอกช่วยดับร้อน แก้อาการกระหายน้ำ 
  • ยาชงจากดอกใช้ดื่มแบบน้ำชาจะเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พุพอง ช่วยแก้อาการไอ แก้ไอหืด 
  • รากช่วยแก้เลือด แก้กำเดา 
  • รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้เป็นยากวาดเด็ก แก้เสมหะด่าง

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ดอก ก้าน และใบ ให้ใช้แบบแห้ง 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • หากนำมาใช้ภายนอกให้นำมาเคี่ยวให้ข้น แล้วนำมาใช้ทาแผลบวมฟกช้ำ 
  • ส่วนวิธีการเก็บช่อดอกและใบให้เก็บในช่วงฤดูร้อนตอนออกดอก แล้วนำมาตากให้แห้ง แยกเก็บไว้ใช้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ประยงค์ (Prayong)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 169.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “ประยงค์”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 132.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ประยงค์”.  หน้า 39.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประยงค์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [19 เม.ย. 2014].
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ประยงค์”.  (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [19 เม.ย. 2014].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 273 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “ประยงค์ช่อน้อยลอยกลิ่นไกล”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [19 เม.ย. 2014].
  7. การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 3 วันที่ 28-29 ก.พ. 2550.  “ผลของสารสกัดจากใบประยงค์ต่อจำนวนเม็ดเลือด ของแมลงวันผลไม้ระยะตัวหนอน”. (กิตติ ตันเมืองปัก, พาคิน ฝั่งไชยสงค์, อาทิตย์ พิมมี).
  8. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41.  “การเปรียบเทียบผลของสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นประยงค์ด้วยน้ำที่มีต่อการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชสองชนิด”. (ยิ่งยง เมฆลอย, วิรัตน์ ภูวิวัฒน์, จำรูญ เล้าสินวัฒนา, พัชนี เจริญยิ่ง). หน้า 311-317.
  9. สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์,โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประยงค์”.  อ้างอิงใน: หนังสือต้นไม้ยาน่ารู้ (ธงชัย เปาอินทร์, นิวัตร เปาอินทร์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [19 เม.ย. 2014].