หญ้าขัดมอญ
  ชื่อสามัญภาษาไทยหญ้าขัดมอญ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBroom weed, Snake s tongue ,Two-beaked , prickly Sida , Southern sida , Wire weed
  ชื่อที่เกี่ยวข้องหญ้าขัดมอน, ขัดมอญ, ดัดมอน, หญ้าข้อ (ภาคเหนือ)
  ชื่อวิทยาศาสตร์Sida acuta Burm F.
  ชื่อพ้องSida carpini folia L.f. Malvastrum carpinifolium (L.f.) A.Gray
  ชื่อวงศ์Malvaceae
  ชื่อท้องถิ่นหญ้าข้อ (ภาคเหนือ), ยุงกวาด, ยุงปัด (ภาคกลาง), ลำมะเท็ง (ชลบุรี), ราโพธิ์ (ปัตตานี), นาคุ้ยหมี่, เนาะคุ้ยหมี่, เนาะเด๊ะ (กะเหรี่ยง), หนานช่าง (ม้ง), อึ๋งฮวยอิ๋ว, อวกตักซั่ว (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหญ้าขัด จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของลำต้นได้ถึง 1 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียวหรืออมเทา และมีขนเป็นรูปดาว โดยต้นหญ้าขัดสามารถพบได้ทั่วทุกภาคตามป่าเบญจพรรณ

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนแบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปสามเหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนใบกลมถึงตัด ส่วนขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อย ยกเว้นบริเวณโคนใบจะเรียบ ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสั้นรูปดาวขึ้นอยู่หนาแน่น มีก้านใบยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และมีขนขึ้นหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีหูใบยาวได้ถึง 5 มิลลิเมตร มีเส้นตามยาว 1 เส้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปแถบและตามขอบมีขน

ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเนื้อค่อนข้างขาว ดอกจะออกตามง่ามใบ ใบที่ยอดมักจะเป็นแบบลดรูปลง ทำให้ดูคล้ายเป็นช่อแบบกระจะ ส่วนก้านของดอกมียาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีข้อต่ออยู่เหนือกึ่งกลางก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงจะติดกันและมีลักษณะเป็นรูประฆัง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร โคนใบมีสันประมาณ 10 สัน ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายแฉกแหลมหรือเรียวแหลม ส่วนด้านนอกมีขนสั้น ๆ รูปดาวคละกับขนธรรมดา แต่ด้านในเกลี้ยง ส่วนวงกลีบดอกเมื่อบานจะกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบของดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองอ่อน ตรงกลางสีแดง เป็นรูปไข่กลับและเบี้ยว มีความกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร ปลายกลีบตัดหรือแหลม ส่วนโคนกลีบลักษณะสอบและอาจมีขนหรือเกลี้ยง ดอกมีเกสรตัวผู้ติดกันเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีอับเรณูอยู่ที่ปลาย ส่วนเกสรตัวเมียจะอยู่ภายในหลอดเกสรตัวผู้ และมีรังไข่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกรวย มีความกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตรและเกลี้ยง ก้านเกสรตัวเมีย ปลายแยกออกเป็น 8-10 แขนง ยอดเกสรตัวเมียจะเป็นตุ่มสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อน

ผลเป็นแบบแห้งแยกแล้วแตก ลักษณะของผลเป็นรูปครึ่งทรงกลม มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอยู่ โดยในผลจะประกอบไปด้วยซีกผลประมาณ 8-10 ซีก ในแต่ละซีกจะมีลักษณะเป็นรูป 3 มุม มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ด้านนอกและด้านข้างเป็นรอยย่น ส่วนปลายมีรยางค์แข็ง ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ยาวเสมอกลีบเลี้ยงหรืออาจสั้นกว่าเล็กน้อย โดยในแต่ละซีกจะมีเมล็ดสีดำ 1 เมล็ด มีขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีขนสั้น ๆ อยู่ที่ขั้วเมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้ดับร้อน
  • แก้พิษ
  • แก้บวม
  • ช่วยสมานเนื้อ
  • แก้หวัด
  • แก้เต้านมอักเสบ
  • แก้บิดลำไส้อักเสก
  • ช่วยบรรเทาอาการหกล้มกระดูกหัก
  • แก้แผลบวมเป็นพิษ
  • ใช่ห้ามเลือด 
  • ใช่บำรุงเหงือก
  • ใช่บำรุงฟัน
  • ช่วยลดไข้
  • ช่วยรักษาโลหิตเป็นพิษ
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
  • แก้ร้อนใน
  • รักษาโรคกระเพาะ
  • ช่วยขับเลือด
  • ช่วยขับเหงือ
  • ช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยรักษาอาการปวดมดลูก
  • ช่วยรักษางูกัด
  • แก้ไข้
  • แก้ปวด
  • แก้อาการอ่อนเพลีย
  • แก้ขัดเบา(กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้อาการสะอึก
  • รักษาโรคปอด
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้บวม
  • ใช่ถ่ายพยาธิ 
  • แก้หวัด 
  • แก้ปวดหัว
  • แก้ผื่นพิษ
  • แก้แผล เรื้อรัง แผลสด
  • แก้อักเสบ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • แก้ไข้ แก้หวัด แก้ปวดหัว ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ รักษาโรคกระเพาะ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับเหงื่อ แก้ท้องเสีย แก้โลหิตเป็นพิษ ใช้ลำต้นและรากหญ้าขัดใบยาวพอประมาณ ( 15-30 กรัม ) ต้มกินน้ำ 

  • ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร เป็นยาเย็น ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับเหงื่อและแก้ไข้ ใช้ในโรคประสาท อาการไข้ผิดปกติต่างๆ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ โรคเรื้อรังเกี่ยวกับท้อง และแก้อ่อนเพลีย โดยใช้รากต้นนี้ผสมกับขิงต้มน้ำดื่มวันละ 2 ครั้งๆ ละขนาด 1 ถ้วยชาเล็กๆ

  • ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย โดยใช้รากนำมาแช่กับน้ำดื่มรวมกับหญ้าปากควาย เปลือกมะกอก และตะไคร้ อีกวิธีให้ใช้รากผสมกับขิง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง 
  • แก้อาการอาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ แก้ปวดท้อง โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้อาการปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก ขับเสมหะ แก้อาเจียน ขับเหงื่อ โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน โดยใช้ลำต้นนำมาต้มในน้ำ แล้วเอาน้ำที่ได้มาอม
  • ใบอังไฟพอสุก ทาน้ำมันเอามาปิดฝี ทำให้ฝีหัวแก่เร็วขึ้น (กลัดหนองเร็วขึ้น)
  • ส่วนวิธีการใช้หญ้าขัดใบยาวในตำรายาจีน คือ แก้เต้านมอักเสบ โดยใช้ต้นแห้งร่วมกับ โพกงเอ็ง (Tara xacum mongolicum Hand-Mazz) ต้มน้ำกิน และใช้ทาภายนอก และให้ใช้ต้นแห้งร่วมกับหัวผักกาดขาวสดน้ำตาลแดง ตำพอกภายนอกอีกครั้ง
  • แก้หวัดลมร้อน ใช้หญ้าขัดใบยาว เถาสายนํ้าผึ้ง   อย่างละ 1 ตำลึง ต้มใส่นํ้าตาลแดงดื่ม
  • แก้บิดมูกบิดเลือด ใช้หญ้าขัดใบยาวหรือหัวของมัน 1 ตำลึง ต้มน้ำ ผสมน้ำผึ้ง หรือผสมน้ำตาลแดง รับประทาน
  • แก้ลมลงท้อง หญ้าขัดใบยาว 1 ตำลึง ต้มน้ำ ใส่น้ำตาลแดงดื่ม
  • แก้ลมขึ้นเบื้องสูงปวดหัว ใช้หญ้าขัดใบยาวครึ่งตำลึง ต้มเนื้อสันหมูรับประทาน
  • รักษาแผลเรื้อรัง ใช้ใบหญ้าขัดใบยาวตำใส่น้ำผึ้งหรือไข่ขาว ใช้พอก
  • รักษาผิวหนังผื่นพิษบวมเจ็บ ใช้หญ้าขัดใบยาวตำแหลก แล้วพอก
  • รักษาแผลสด ใบหญ้าขัดใบยาว ตำแหลกผสมเหล้านิดหน่อย พอกเนื้อเก่าจะยุ่ย เนื้อใหม่จะงอก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Paddy’s lucerne“.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7.  (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [22 ธ.ค. 2013]. 
  2. สันยาสี.  “อายุวัฒนะ ตำรับยาแก้โรค“.  (หมอเมือง สันยาสี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sanyasi.org.  [21 ธ.ค. 2013]. 
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “หญ้าขัด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [22 ธ.ค. 2013]. 
  4. พันธุ์ไม้พื้นล่าง เครือข่ายกาญจนาภิเษก โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ .  “หญ้าขัด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th.  [22 ธ.ค. 2013]. 
  5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “Sida rhombifolia L. ssp. RHOMBIFOLIA“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [22 ธ.ค. 2013]. 
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “หญ้าขัด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [22 ธ.ค. 2013]. 
  7. รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย เครือข่ายการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “Family : MALVACEAE“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th/Forest/.  [22 ธ.ค. 2013].