หูเสือ
  ชื่อสามัญภาษาไทยหูเสือ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษIndian borage, French thyme, Country borage, Mexican mint, Spanish thyme, Oreille.
  ชื่อวิทยาศาสตร์Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.
  ชื่อพ้องColeus aromaticus Benth., Coleus amboinicus Lour. Coleuscrassifolius Benth
  ชื่อวงศ์Lamiaceae
  ชื่อท้องถิ่นใบหูเสือ (ทั่วไป,ภาคกลาง), หอมด่วนหลวง, หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ), เนียมหูเสือ (ทั่วไป, ภาคอีสาน), ผักฮ่านใหญ่ (ไทยใหญ่), โฮ่อิ๋มเช่าชี่ปอ, โฮว่ฮีเช่า, เนียมอีไหลหลึง (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หูเสือจัดเป็นไม้ล้มลุกมี อายุ 2-3 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป 

ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบรูปไข่กว้างค่อนข้างกลม หรือรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ใบขยี้ดมมีกลิ่นหอมฉุน ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบๆใบ ใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร 

ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร อยู่ตามปลายกิ่งหรือยอด ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะๆ มีขน ช่อหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 6-8 ดอก ทยอยบานทีละ 1-2 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีม่วงขาว รูปเรือ ยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง มีขน กลีบล่างยาว เว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้างๆ รูปหอกแคบ แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น 

ผล มีเปลือกแข็ง เล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร

สรรพคุณทั่วไป

  • ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า หรือสระผมได้
  • ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม
  • นำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลงก็ได้
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • แก้พิษฝีในหู
  • แก้ปวดหู
  • แก้หูน้ำหนวก
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้ไข้หวัดในเด็ก
  • แก้โรคหืด
  • บำรุงร่างกาย
  • แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ
  • แก้อาการปวด
  • ลดไข้
  • ช่วยรักษาอาการหวัดคัดจมูก
  • รักษาหิด
  • แก้ลมชักบางประเภท
  • แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา
  • ช่วยขับลม
  • แก้ปวดท้อง
  • อาหารไม่ย่อย
  • แก้แมลง สัตว์ กัดต่อย
  • รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • รักษาอาการบวม
  • แก้ปวดข้อ
  • ใช้ขยี้ทาห้ามเลือด
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • ช่วยดับกลิ่นปาก
  • แก้ปวดฟัน
  • ป้องกันฟันผุ
  • ใช้เป็นยาบำรุงเลือดลม
  • บำรุงร่างกายขับน้ำนมหลังคลอด
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใบสดคั้นเอาน้ำมาหยอดหู แก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูน้ำหนวก  บำรุงเลือดลม ให้ใช้รากหูเสือนำมาต้มกับน้ำกิน  
  • แก้ปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการนำรากหูเสือมาแช่กับน้ำธรรมดา แล้วนำมากินและอมบ่อย ๆ 
  • ใบนำมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการคัดจมูกเนื่องจากหวัดได้ 
  • แก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลา ต้มดื่มเรื่อย ๆ หรือใช้ใบหูเสือสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาสับกับหมูไม่ติดมันให้ละเอียด ใช้ต้มกินแบบแกงจืด ใส่เกลือป่น โดยให้กินทั้งน้ำและเนื้อ 2 มื้อ เช้าและเย็น 
  • ส่วนตำรับยาแก้ไอในเด็ก ระบุให้นำใบหูเสือมานวดกับเกลือ คั้นเอาน้ำใส่ช้อนทองเหลืองอุ่นให้เดือด แล้วนำมาให้เด็กกิน 
  • ช่วยขับลม แก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยโดยใช้ยางจากใบใช้ผสมกับน้ำตาลกิน 
  • ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา  
  • แก้อาการท้องอืดในเด็กโดยนำต้นและใบนำมาขยี้ใช้ทาท้องเด็ก  
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหูเสือมาล้างให้สะอาด ตำแล้วนำมาโปะตรงที่เป็นแผล จะช่วยทำให้แผลไม่เปื่อย ไม่พอง และไม่ลุกลาม 
  • ใบนำมาคั้นเอาใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเป็นตุ่มพุพอง 
  • ใบนำมาขยี้ทารักษาหิด ไปใช้ภายนอกนำมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอกแก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด 
  • ช่วยรักษาอาการบวม โดยใช้ใบตำพอกแก้ปวดข้อ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=173 ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: ส้านักงานหอพรรณไม้ ส้านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.https://medthai.com/เนียมหูเสือ/
  2. หลากหลายสรรพคุณกับสมุนไพรไทย.คอลัมน์เก็บมาฝาก.หนังสือพิมพ์กสิกร.กรมวิชาการเกษตร.ปีที่85.ฉบับที่4.กรกฎาคม-สิงหาคม.2555 หน้า53-61
  3. ฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหารของเนียมหูเสือ(Coleus aromaticus).ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ใบหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.main.php?action=viewpage&pid=173
  5. หูเสือ.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.phorgarden.com/main.php?action=viewpage&id=5439
  6. หูเสือ,ตะลิงปลิง.กลุ่มยารักษาตาคางทูม แก้ปวดหู.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_29_4.htm.
  7. มะแขว่นและเนียมหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplnt.mahidol.ac.th/user/repiy.asp?id=5558