กระตังใบ
  ชื่อสามัญภาษาไทยกระตังใบ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBandicoot Berry
  ชื่อวิทยาศาสตร์Leea indica (Burm.f.) Merr.
  ชื่อวงศ์Vitaceae
  ชื่อท้องถิ่นขี้หมาเปียก (นครราชสีมา), ต้างไก่ (อุบลราชธานี), ค
 
กิ่งกระตังใบ
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ใบกระตังใบ
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ใบกระตังใบ
ที่มา : สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    กระตังใบเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อมหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยงหรือปกคลุมด้วยขนสั้น ๆ ต้นฉ่ำน้ำ ตามต้นและตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดดรำไร ใต้ร่มไม้ใหญ่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล พม่า บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียและฟิจิ ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ และตามป่าเต็งรัง บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,400 เมตร

    ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนสั้นขึ้นปกคลุม ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ริ้วประดับมีตั้งแต่รูปสามเหลี่ยมค่อนข้างกว้าง ถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร หูใบเป็นรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่น มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ซึ่งมักจะเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย จะเห็นชัดเจนในขณะที่ใบยังอ่อน และจะร่วงได้ง่ายเมื่อใบแก่ เหลือไว้เฉพาะรอยแผลรูปสามเหลี่ยม ใบย่อยมีประมาณ 3-7 ใบ ออกเป็นคู่ตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรียาว รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบแหลมเล็กน้อย มน หรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-24 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เนื้อใบหนาปานกลาง ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขน หลังใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ ส่วนท้องใบเป็นลอนสีเขียวนวล และมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยมหรือกลม เห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-16 เส้น

    ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบหรือตรงเรือนยอดของกิ่ง ก้านชูช่อดอกยาว แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นเป็นสีขาวอมเขียว ขาวอมเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ดอกตูมเป็นรูปทรงกลมสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานจะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่โคน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอกส่วนล่างติดกัน ส่วนด้านในเชื่อมติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ส่วนบนแยกเป็นกลีบเรียว 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมน ๆ ปลายแฉกเว้า เกสรเพศเมียมีรังไข่ 6 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรสั้น ปลายมน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

    ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ๆ หรือกลมแป้น ด้านบนแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีดำ ผิวผลบางมีเนื้อนุ่ม ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ ออกผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

สรรพคุณทั่วไป

อินโดนีเซียจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาพอกศีรษะแก้ไข้ หรือนำทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษามะเร็งเต้านม
 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ใบ
  • ใบนำย่างไฟให้เกรียม ใช้เป็นยาพอกศีรษะแก้วิงเวียน มึนงง
  • ใช้ใบนำมาตำพอกแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็ได้
  • ใบใช้ต้มอาบช่วยบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์
  • ใบใช้ตำพอกเป็นยาแก้อาการคันหรือผื่นคันตามผิวหนัง
  ราก
  • รากมีรสเย็นเมาเบื่อ เป็นยาเย็น ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาขับเหงื่อ ระงับความร้อน แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด แก้อาการกระหายน้ำ
  • รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 ครั้ง จนยาหมดรสฝาด จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตกขาวของสตรี มะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้
  • ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • หมอยาพื้นบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีจะนำรากมาฝนกับเหล้าใช้ทารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง และแก้บิด
  • รากใช้ต้มกินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  ต้น
  • ชาวม้งจะใช้ลำต้นต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ
  • ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากผสมกับลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูก และรากตากวาง อย่างละเท่ากัน ต้มกับน้ำเดือดใช้ดื่มแก้ท้องเสีย ส่วนชาวม้งจะใช้ส่วนของลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วงและรักษาโรคนิ่ว 
  รากและลำต้นรากและลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัดและรักษาโรคนิ่ว
  น้ำยางจากใบอ่อนน้ำยางจากใบอ่อนใช้กินเป็นยาช่วยย่อย
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กะตังใบ (Katang Bai)”.  หน้า 41.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กะตังใบ”.  หน้า 69.
3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กะตังใบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [21 มิ.ย. 2015].
4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กะตังใบ”.  อ้างอิงใน : สยามไภษัชยพฤกษ์ (146).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [21 มิ.ย. 2015].
5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระตังใบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [21 มิ.ย. 2015].
6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กะตังใบ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [21 มิ.ย. 2015].
8. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กะตังใบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.  [21 มิ.ย. 2015].
9. https://medthai.com/กระตังใบ/