ขจร
  ชื่อสามัญภาษาไทยขจร
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCowslip creeper
  ชื่อวิทยาศาสตร์Telosma minor Craib
  ชื่อพ้องTelosma cordata (Burm. f.) Merr.
  ชื่อวงศ์Asclepiadaceae
  ชื่อท้องถิ่นสลิด, ผักสลิด, ดอกขจร (ภาคกลาง), ผักสลิดคาเลา (ภาคเหนือ), ผักขิก, ผักสลิดป่า, ผักกะจอน (ภาคอีสาน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ขจรจัดเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อยขนาดเล็กเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น  ซึ่งเถายาวจะสามารถเลื้อยยาวได้มากกว่า 3 - 10เมตร และเถาจะแตกกิ่งจำนวนมาก เถาอ่อน และกิ่งอ่อนมีลักษณะกลม เปลือกเถาสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเป็นตะปุ่มตะป่ำ และจะมีน้ำยางสีใสไหลออกมา ปลายเถาหรือปลายกิ่งมีขนอ่อนปกคลุมซึ่งเถาขจรไม่มีมือเกาะเหมือนไม้เถาเลื่อยอื่นๆ ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว

ใบเป็นใบเดี่ยวออกบริเวณข้อของเถาโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง กลางใบกว้างส่วนโคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบบาง เกลี้ยง เป็นสีเขียวสด ใบเป็นคลื่นเล็กน้อยและมีขนอ่อนปกคลุม เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัด มี 5 เส้น  ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5-2เซนติเมตร

ดอกออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามข้อลำต้น ง่ามใบหรือปลายกิ่ง และจะมีดอกย่อยเรียงกันเป็นกระจุก ช่อดอกมีก้านดอกสั้นสีน้ำตาลอมเทา ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร พวงดอกหรือช่อดอกแต่พวงจะมีดอกย่อยประมาณ 10-20ดอก ดอกย่อยจะแข็งมีกลิ่นหอม และมีสีเขียวอมสีเหลืองหรือสีส้มบริเวณกลางดอกมีสีเขียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 2เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ กลีบดอกย่นและบิด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก

ผลออกเป็นฝัก มีคล้ายฝักถั่วเขียว แต่ยาวกว่า ฝักมีรูปร่างกลม เรียวยาวผิวเกลี้ยง ตัวฝักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลม ฝักกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล และเมื่อฝักที่แก่เต็มที่จะปริแตกแยกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่กว้างลักษณะแบนปลายตัด และมีขนซึ่งจะมีจำนวนมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับสารพิษ
  • แก้อาการท้องเสีย
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • แก้โลหิตเป็นพิษ
  • ช่วยบำรุงปอด
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงสายตา
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยบำรุงฮอร์โมนของสตรี
  • ช่วยลดไข้
  • แก้เสมหะ
  • แก้อาการหวัด
  • แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • แก้ท้องผูก
  • แก้หน้ามืดตาลาย
  • แก้อาเจียน


 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. รศ.ดร.สุธาทิพ  ภมรประวัติ.ขจร,โสน.คอลัมน์ บทความพิเศษ.นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่มที่ 337. พฤษภาคม 2550.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“ขจร (Kha Chon)”.  หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  หน้า 56.
  3. สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน.2538. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.หน้า120.ผักพื้นบ้าน.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ
  4. มธุรส วงษ์ครุฑ.”ดอกขจร” ปลูกกินได้คุณค่า...ปลูกขายได้ราคา.คอลัมน์เกษตรน่ารู้.นิตยสาร นสพ.กสิกรปีที่ 86. ฉบับที่3.พฤษภาคม-มิถุนายน 2556.หน้า 37-39
  5. ผักขจร/ผักสลิด/ดอกขจร/ดอกสลิด สรรพคุณการปลูกดอกขจร.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkset.com