สะตือ
  ชื่อสามัญภาษาไทยสะตือ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCrudia chrysantha, (Pierre) K. Schum
  ชื่อที่เกี่ยวข้องเดือยขาว ดู่ไก่ ประดู่ขาว แห้
  ชื่อวิทยาศาสตร์Crudia chrysantha (Pierre) K.Schum.
  ชื่อวงศ์Leguminosae
  ชื่อท้องถิ่นดู่ขาว เดือยไก่ (สุโขทัย) ประดู่ขาว (สุรินทร์) สะตือ (ภาคกลาง) แห้ (สกลนคร) กกแห่ (ภาคอีสาน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สะตือเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ รูปเจดีย์ต่ำ ใบเป็นพุ่มกว้างทึบมาก เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาวลำต้นยอดอ่อนมีกาบหุ้มแน่นคล้ายกระสวย 

ใบเดี่ยวออกสลับ ขนาดกว้าง 4.5 – 5 ซม. ยาว 7 – 11 ซม. ผลัดใบในช่วงเดือนธันวาคม ถึง มกราคม แล้วแตกใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดง รูปร่างใบมน รูปไข่ ปลายใบแหลมเรียวสอบเป็นติ่งยาว โคนใบสอบป้านถึงหยักเว้า ขอบหยักถี่มีตุ่มสีน้ำตาลแดงตามปลายหยัก เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง 

ออกดอกเป็นช่อแบบหางกระรอกตามปลายกิ่ง ยาว 5-10 ซม. กว้าง 4 ซม. แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยสีชมพูอมน้ำตาล ขนาด 2 -5 มม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม ทั้งดอกและผลดกมาก 

ผลเป็นฝักแบนรูปไข่มน สีเขียวอมน้ำตาล เปลือกฝักเป็นคลื่น เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลแดง ขนาดกว้าง 4-5 ซม. ยาว 6-8 ซม. มี 1 เมล็ด เมื่อแห้งแล้วแตกเมล็ดกระเด็นออกมา เปลือกฝักยังติดคู่กันแต่ม้วนงอเป็นหลอดกลมแข็ง และติดค้างอยู่บนกิ่งอีกนานหลายเดือนจึงจะร่วงลงมา

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้ได้ทั้งต้น (หรือเรียกใช้ทั้งห้า) หรือนำเอาทุกส่วนของต้นสะตือ ปรุงต้มเป็นยาแล้วเอาน้ำกินและอาบ กินครั้งละ 1 ถ้วยชา แก้ไข้หัว หัดหลบลงลำไส้ เหือด ดำแดง สุกใส ฝีดาษ แก้ไข้ทุกชนิด

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใบใช้ต้มอาบแก้อีสุกอีใส โรคหัด
  • เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://identity.bsru.ac.th/archives/2199