ซาก
  ชื่อสามัญภาษาไทยซาก
  ชื่อวิทยาศาสตร์Erythrophleum succirubrum Gagnep.
  ชื่อพ้องErythrophleum teysmannii var. puberulum Craib)
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นผักฮาก (ภาคเหนือ), ชาด พันชาด ไม้ชาด ซาด พันซาด (ภาคอีสาน), ตะแบง (อุดรธานี), ซาก คราก (ชุมพร), ตร้ะ (ส่วย-สุรินทร์), เตรีย (เขมร-สุรินทร์)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นซาก หรือ ต้นพันชาด จัดเป็นพรรณไม้ผลัดใบยืนต้นขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 20-35 เมตร ลำต้นมีขนาดใหญ่ ออกใบดกและหนาทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องค่อนข้างลึกตามยาวและตามขวางของลำต้น เนื้อไม้ด้านในเป็นสีขาว และแก่นกลางไม้มีเนื้อแข็งเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดด มักพบขึ้นตามป่าราบและป่าผลัดใบ พบได้เป็นจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา หรือพบได้มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และทางภาคใต้ตอนบน
    ลักษณะของใบคล้ายกับใบมะค่าหรือใบประดู่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีช่อใบด้านข้าง 2-3 คู่ ในช่อใบมีใบย่อยประมาณ 8-16 คู่ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปใบหอก รูปหัวใจ หรือรูปข้าวหลามตัด ปลายใบมน โคนใบสอบหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ผิวท้องใบมีขนสั้น ๆ ปกคลุม มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

    ออกดอกเป็นพุ่มหรือออกเป็นช่อยาวใหญ่ตามซอกใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง มีจำนวน 1-3 ช่อต่อหนึ่งซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นอยู่ตามแกนดอก ดอกเป็นสีเหลือง สีเหลืองนวล หรือสีขาวปนเหลืองอ่อน ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีเขียว ขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปใบพายแคบ ๆ สีเขียวแกมขาวติดกันเล็กน้อยที่ฐาน กลีบดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน แยกจากกันอย่างอิสระ ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยมักออกดอกพร้อมกับการผลิใบอ่อน เมื่อมีดอกจะมีกลิ่นเหม็นหืนคล้ายกลิ่นซากเน่าตายแห้งของสัตว์ จึงถูกเรียกชื่อว่า “ต้นซาก"

    ผลมีลักษณะเป็นฝัก ลักษณะของฝักจะค่อนข้างกลมคล้ายกับฝักประดู่ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าฝักมีลักษณะคล้ายกับฝักสะตอ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีลักษณะกลมแบน

สรรพคุณทั่วไป

  • เนื้อไม้นำมาเผาให้เป็นถ่านแล้วบดให้เป็นผง ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับเด็กได้ดี ช่วยดับพิษตานซาง
  • ถ่านที่ได้จากการเผาเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ แก้อาการเซื่องซึม หรือใช้ปรุงผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยาแก้พิษไข้ เซื่องซึม
  • ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ที่มีพิษร้อน กระสับกระส่าย และช่วยแก้ไข้เซื่องซึม ช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยดับพิษโลหิต ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เนื้อไม้มีพิษต้องเผาเป็นถ่านแก้เซื่องซึม โรคผิวหนัง
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ซาก”. หน้า 280-281.
  2. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หูปลาช่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [14 ก.ย. 2014].
  3. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ซาก กับที่มาชื่อประโยชน์และโทษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [14 ก.ย. 2014].
  4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ซาก, ชาด, พันชาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [14 ก.ย. 2014].
  5. โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.), มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “พันซาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : home.kku.ac.th/orip2/thaiherbs/. [14 ก.ย. 2014].