บัวสวรรค์
  ชื่อสามัญภาษาไทยบัวสวรรค์
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGustavia
  ชื่อที่เกี่ยวข้องบัวฝรั่ง, กัสตาเวีย
  ชื่อวิทยาศาสตร์Gustavia gracillima Miers
  ชื่อวงศ์Lecythidaceae
  ชื่อท้องถิ่นกัตตาเวีย (กทม.)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บัวสวรรค์เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงไม่เกิน 3 เมตร ทรงพุ่มทึบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา แตกสะเก็ดเป็นร่องกว้างตามยาว 

ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปหอกออกเวียนสลับเป็นกระจุกตามบริเวณปลายกิ่ง ขอบจักเป็นฟันเลื่อยๆ ถี่ๆ ปลายใบกว้าง โคนสอบเนื้อใบหนาสีเขียวเข้ม ไม่มีก้านใบ 
ดอก กลีบดอกสีขาวอมชมพูห่อซ้อนกัน 2 ชั้นรวม 8 กลีบเกสรตรงกลางดอกมีจำนวนมากสีเหลืองหรือชมพู อยู่กลางดอก ปลายเกสรงุ้มเข้าหากัน เป็นดอกเดี่ยว แต่แตกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งมองดูเหมือนเป็นช่อ ดอกจะผลัดกันบานเพียงช่อละดอกเดียว ลักษณะคล้ายดอกบัวหลวง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ 
ผลบัวสวรรค์ เป็นผลแห้งแตกแบบมีฝาปิด (pyxidia) กลม ปลายแบน คล้ายรูประฆังคว่ำ กว้าง 7-10 ซม. ยาวได้ถึง 8 ซม. ปลายผลตัดแบน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลอมเขียว ผิวขรุขระไม่เรียบ ผิวมีช่องอากาศกระจาย เมล็ดรูปร่างไม่แน่นอน ยาวประมาณ 6 ซม.ภายในผลมีเนื้อสีเหลืองและมีเมล็ด 3 เมล็ด -เมล็ดบัวสวรรค์ สีดำผิวเกลี้ยงเป็นมัน รูปไข่เบี้ยว ที่ขั้วผลมีเนื้อสีเหลืองติดอยู่ กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.7-2.0 เซนติเมตร

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบสามารถนำไปต้มยาทำเป็นยาแก้พิษ แก้พิษไข้ แก้หวัดได้ 
  • ก้านดอกอ่อนสามารถนำไปหมักและกลั่นทาน ช่วยบำรุงโลหิต และบำรุงธาตุ 
  • ใบอ่อน และเปลือกไม้ชั้นในสามารถนำไปผสมเกาหลินในน้ำเย็น ทำเป็นยาแก้อาเจียนในทารก

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วชิรพงศ์ หวลบุตตา. 2542. ไม้ต้นประดับ เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร. 
  2. พัฒน์ พิชาน. 2550. สุดยอดไม้ประดับ-ไม้ดอกหอม. ไทยควอลิตี้บุ๊คส์. กรุงเทพมหานคร. 
  3. เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย Archived 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549 
  4. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) 
  5. https://www.teaoilcenter.org/บัวสวรรค์/