สับปะรด
  ชื่อสามัญภาษาไทยสับปะรด
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPineapple
  ชื่อที่เกี่ยวข้องแนะซะ
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ananas comosus (L.) Merr.
  ชื่อพ้องAnanas sativus Schult.f.
  ชื่อวงศ์Bromeliaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะขะหนัด , มะหนัด , บ่อหนัด (ภาคเหนือ) , ขนุนทอง , ย่านนัด , ย่านัด (ภาคใต้), บักนัด (ภาคอีสาน) ลิงทอง (เพชรบูรณ์), แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แนะซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), หมากเก็ง (ไทยใหญ่), ม้าเนื่อ (เขมร)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สับปะรดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี สูงประมาณ 75 - 100 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นจะแตกออกมาเป็นกอใหญ่ ไม่มีกิ่งก้านใดๆ จะมีเพียงกาบใบที่ห่อหุ้มลำต้นไว้ มีปล้องสั้นๆ ลำต้นแก่ค่อนข้างแข็งแรง และออกหน่อใหม่ด้านข้าง 

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงแบบบันไดเวียนอย่างหนาแน่นอยู่ตามลำต้น ไม่มีก้านใบ ลักษณะใบเป็นแผ่นเรียวยาวคล้ายดาบโค้ง เนื้อใบแข็ง ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบมีหนามบ้างเล็กน้อยที่ใกล้กับปลายใบและโคนใบ แผ่นใบเรียบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีขาวนวปนสีน้ำเงิน 

ดอก ออกดอกเป็นช่อใหญ่ที่ยอดโผล่ออกมาจากกลางกอ มีดอกหนาแน่น ก้านช่อใหญ่และยาว แต่ละดอกมีกลีบรองกลีบดอก 3 กลีบ สั้นและฉ่ำน้ำ กลีบดอกมี 3 กลีบ ด้านบนสีฟ้าอมม่วง ด้านล่างสีขาว 

ผล เป็นผลที่เกิดจากช่อดอกทั้งช่อเจริญร่วมกัน มีผนังเชื่อมติดกัน ลักษณะผลรูปร่างเกือบกลม รูปไข่ป้อม หรือทรงกระบอก โคนกว้างกว่าปลาย มีใบเป็นกระจุกที่ปลายของผล

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบสด รสเฝื่อน เป็นยาถ่ายและฆ่าพยาธิในท้อง เป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระษัย ทำให้ไตมีสุขภาพดี
  • ผล ผลเปรี้ยวอมหวาน แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ ระงับอาการอักเสบบวมของเนื้อเยื่อ ฟอกโลหิต ย่อยอาหารกระเพาะลำไส้
  • ผลดิบ รสเปรี้ยวอมหวาน เป็นยาระบายอ่อนๆ ใช้ห้ามโลหิต แก้ทางปัสสาวะ ฆ่าพยาธิและขับโลหิตระดู
  • ผลสุก รสเปรี้ยวอมหวาน ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อและบำรุงกำลัง ช่วยย่อยอาหาร แก้หนองใน
  • ไส้กลางสับปะรด แก้ขับเบา

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ผลเปรี้ยวอมหวาน แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ ระงับอาการอักเสบบวมของเนื้อเยื่อ ฟอกโลหิต ย่อยอาหารกระเพาะลำไส้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=278 
  2. ภก.กฤติยา ไชยนอก.สับปะรด ผลไม้รักษาโรค.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. นันทวัน บุณยะประภัทศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 4. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด, 2543: 740 หน้า.
  4. อรัญญา ศรีบุศราคัม. สับปะรด. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2544;18(4):3-7.
  5. สับปะรด.กลุ่มบาขับปัสสาวะ สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด .โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.repg.or.th/plant_data/herbs_12_5.htm
  6. กฤติยาไชยนอก. น้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2554;28(4):9-20.
  7. คุณประโยชน์ของแกนสับปะรด.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5751
  8. สับปะรด ผลไม้มากคุณประโยชน์.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com