ตาล
  ชื่อสามัญภาษาไทยตาล
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPalmyra Palm
  ชื่อวิทยาศาสตร์Borassua laillifer Linn.
  ชื่อวงศ์Arecaceae
  ชื่อท้องถิ่นตาลโตนด, ตาลใหญ่ (ภาคกลาง), ปลีตาล, ตาลนา, ต๋าน (ภาคเหนือ), โหนด, ลูกโหนด (ภาคใต้), ปอเก๊าะตา (ยลา, ปัตตานี), คาน (ไทยใหญ่), ทอกู, ท้าว (กะเหรี่ยง), ตะนอด, ทะเนา (เขมร)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ตาลเป็นพืชตระกูล Palmmaceae จำพวกเดียวกับมะพร้าวจาก ชิด สละ สาคู ระกา และอินทผาลัม สามารถแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ คือตาลไข่และตาลหม้อซึ่งทั้ง 2 พันธุ์ มีลักษณะทั่วไปเหมือนกันจะแตกต่างกันที่ลักษณะของผลเท่านั้น โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์มที่มีอายุยืนประมาณ 80-100 ปี และเมื่อโตเต็มที่จะสูง 18- 25 เมตร ลำต้นคล้ายต้นมะพร้าว เปลือกลำต้นขรุขระเป็นวงซ้อนกัน มีสีคล้ำขี้เถ้าออกดำ ลำต้นกลม ตรง สูงชะลูด ความสูงประมาณ 18-25 เมตร บางต้นอาจสูงถึง 30 เมตร เมื่อต้นมีอายุน้อยจะมีโคนต้นอวบใหญ่ และเมื่อสูงได้ประมาณ 4 เมตร ลำต้นจะเรียวลง และจะขยายใหญ่ที่ความสูงประมาณ 10 เมตร เนื้อไม้เป็นเสี้ยนแข็ง เหนียว 

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันแตกออกบริเวณเรือนยอดเป็นกลุ่มแน่น ลักษณะคล้ายพัดขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเมื่ออ่อนหนามีสีเขียว เมื่อใบแก่ออกสีน้ำตาล ปลายใบเป็นจักลึกถึงครึ่งแผ่นใบ ส่วนก้านใบหนามีสีเหลืองเป็นทางยาวประมาณ 1-2 เมตร เรียกว่าทางตาล ส่วนขอบของทางก้านทั้งสองข้าง จะมีหนามแข็งคล้ายฟันเลื่อย สีดำและคมอยู่ตามขอบก้านใบ ส่วนของโคนก้านแยกออกจากกันและโอบหุ้มลำต้นเอาไว้ 

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยเป็นดอกแยกเพศต่างต้น แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย ช่อดอกต้นผู้เรียก นิ้วตาล หรือ งวงตาล ซึ่งต้นหนึ่งมีช่อดอก 3-9 ช่อ และจะแตกแขนง 2-4 งวงต่อช่อ โดยงวงหนึ่งงวงจะมีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกต้นตัวเมีย เรียก “ปลีตาล” หรือบางทีก็เรียงงวงตาลเช่นเดียวกัน แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ ซึ่งจะออกช่อหลังต้นตัวผู้ ปกติแล้วหนึ่งต้นจะมีประมาณ 10 ช่อ

ผลเป็นแบบผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียวโดยเจริญมาจากช่อดอกที่ติดผลที่เราเรียกว่าทะลาย ซึ่งผลจะติดกันเป็นกลุ่มแน่น ลักษณะของผลเป็นทรงกลมหรือเป็นรูปทรงกระบอกสั้น ขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตรซึ่ง ผลเป็นเส้นใยหนาวแข็งและเป็นมัน มักมีสีน้ำตาลถึงสีม่วงเข้ม ปลายผลมีสีเหลือง เป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลือง(เมล็ด) ไว้ภายใน ส่วนเมล็ด (จากตาล) จะมีเมล็ดเนื้อเยื่อสีเหลืองเหล่านี้ห่อหุ้มอยู่ซึ่งใน 1 ผล จะมีประมาณ 1-3 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบแก้อาการ กระสับกระส่าย
  • หลังคลอดคั่วให้เหลืองแล้วบดเป็นผงใช้ สูบหรือเป่า ลดความดันโลหิต
  • ราก ใช้แก้ไข้ ร้อนในกระหายน้ำ
  • รากแก้ทอนซิลอักเสบ
  • รากช่วยขับพยาธิ แก้ซางเด็กและชูกำลัง
  • ก้านใบสดหรือกราบตั้งไฟแล้วบีบเอาแต่น้ำอมแก้ปากเปื่อย และ
  • แก้ท้องเสียท้องร่วงได้
  • งวง แก้พิษตานซางขับพยาธิทำให้สดชื่น

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงกำลัง บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น เป็นยาระบาย 
  • โดยนำน้ำตาลสดจากงวงตาลมาดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ตานขโมยในเด็ก 
  • โดยใช้งวงตาลอ่อนมาฝานแล้วใช้ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้คันแก้ผดผื่นโดยนำผลตาลแก่มาคั้นเอาน้ำแล้วจึงใช้แช่กับน้ำอาบ ใช้แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ 
  • โดยนำก้านตาลสดมาเผาไฟแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้อมกลั้วปากเพื่อรักษาปากเปื่อยก็ได้ ใช้ลดความดันโลหิต 
  • โดยใช้ใบตาลมาคั่วให้เหลืองแล้วนำมาบดเป็นผงแล้วนำไปสูบหรือเป่า

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ปิฎฐะ บุนนาค.(2524),ปาล์ม,กรุงเทพฯ บรรณกิจเทรดติ้ง
  2. เดชา ศิริภัทร.ตาลโตนด,มะพร้าว.ตัวแทนความหวานและความสูง.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่159.กรกฎาคม2535
  3. อุดม ลคหวั่น (2528)อาชีพเพาะจาวตาล.ชาวเกษตร,4(46),23-28
  4. กนกพร อะทะวงษา,พิชานันท์ ลีแก้ว.ดอกไม้ในยาไทย.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.หน้า81-84
  5. กระยาทิพย์ เรือนใจ,(2543),ผลไม้คุณค่านานาเพื่อสุขภาพ.กรุงเทพฯต้นธรรม.
  6. ตาลโตนด (Palmyra Palm) ประโยชน์และสรรพคุณตาลโตนด.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com