โกฐจุฬาลัมพา
  ชื่อสามัญภาษาไทยโกฐจุฬาลัมพา
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษSweet wormwood herb
  ชื่อวิทยาศาสตร์Artemisia vulgaris L.
  ชื่อพ้องArtemisia chamomilla C. Winkl. , Artemisia stewartii C.B. Ckarke., Artemisia wadei Edgedw.
  ชื่อวงศ์Asteraceae
  ชื่อท้องถิ่นโกฐจุฬาลัมพาจีน (ทั่วไป),ตอน่า(ไทยใหญ่),แชฮาว (จีนแต้จิ๋ว),ชิงฮาว ,ชิงเฮา(จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นโกฐจุฬาลัมพา เป็นไม้ล้มลุกมีอายุปีเดียว ลำต้นสูง 0.7-1.6 เมตร แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนขึ้นประปราย หลุดร่วงได้ง่าย        

    ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ขอบใบหยักลึกคล้ายขนนก 3 หรือ 4 ชั้น แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ ก้านใบสั้นมาก    

    ช่อดอก เป็นแบบช่อแยกแขนง รูปพีระมิดกว้าง ส่วนช่อย่อยเป็นช่อกระจุกแน่น มีสีเหลืองถึงเหลืองเข้ม ลักษณะกลมและมีจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มิลลิเมตร ก้านช่อย่อยสั้น วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 10-18 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน 2 ซี่ หรือ 3-4 ซี่ ยอดเกสรเพศเมียแหลม ดอกย่อยตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มี 10-30 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกัน เป็นหลอดปลายจักซี่ฟัน 5 ซี่ เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน แต่ละอันมีรยางค์ด้านบน 1 อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน
    
    ผล เป็นผลแห้ง

สรรพคุณทั่วไป

แก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน)ไข้เจรียง (ไข้ทีมีเม็ดผื่นขึ้นตามตัว เช่น เหือดหัด สุกใส ดำแดง รากสาดประดง) ช่วยขับเสมหะ แก้หอบ หืด แก้ไอ ช่วยขับเหงื่อ ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาระบาย ช่วยขับลม แก้ตกเลือด แก้ช้ำใน แก้ปวดเมื่อยไข้รูมาติก แก้บิด แก้ปวดท้องหลังคลอด แก้ระดู(ประจำเดือน)มากเกินไป รักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต แก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้คลื่นเหียน แก้อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ใช่บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด(ตกขาว หรือ ระดูขาว) เป็นยาชูกำลัง แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก รักษาริดสีดวงทวาร แก้ไข้มาเลเรีย
 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้ตามสรรพคุณของตำรายาไทยโดยการใช้ ส่วนเหนือดินแห้ง 3-12 กรัม ในรูปแบบยาต้มรับประทาน ต่อวัน
  • ส่วนในการใช้ตามสรรพคุณของตำรายาจีน จะใช้ในขนาด 4.5-9 กรัม โดยใช้ในรูปแบบยาต้มรับประทานเช่นเดียวกัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐจุฬาลําพา”. หน้า 104.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาศ ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์. คําอธิบายตําราพระโอสถพระนารายณ์. กรุงเทพฯ. อมรินทร์พรินติงแอนด์พับลิชชิง, 2544: น. 240-243.
  3. อุทัย โสธนะพันธุ์ และคณะ. การพิสูจน์ชนิดทางพฤกษศาสตร์ของโกฐจุฬาลัมพาที่ใช้ในปัจจุบันด้วยเทคนิกโครมาโทกราฟีชนิดแผ่นบาง วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพปีที่ 8. ฉบับที่1 2556.หน้า 1-6
  4. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ.โอเดียนสโตร์, 2540: น.112 หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐจุฬาลําพา Artemisia”. หน้า 216. 
  5. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2544. ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที 4) พ.ศ. 2544 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. สํานักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544.
  6. เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิjมเติม พ.ศ. 2544. 
  7. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สํานักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.สํานักพิมพ์ประชาชน, 2544: น.55-56, 229