มะระขี้นก
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะระขี้นก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBitter cucumber, Balsam pear, Balsam apple, Bitter melon, Bitter gourd, Carilla fruit
  ชื่อวิทยาศาสตร์Momordica charantia L.
  ชื่อวงศ์Cucurbitaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะไห่, มะห่อย, ผักไห่, ผักไซ (ภาคเหนือ), มะระหนู, มะร้อยรู (ภาคกลาง), ผักสะไล, ผักไส่ (ภาคอีสาน), ระ (ภาคใต้), ผักไห (นครศรีธรรมราช), ผักเหย (สงขลา), สุพะซู, สุพะซู, สุพะเด (กะเหรี่ยง - มะฮ่องสอน), โกควยเกี๋ย, โคงกวย (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะระขี้นกเป็นไม้เถาล้มลุก เป็นเถาเลื้อยหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เถาหรือลำต้นเป็นเส้นเล็กๆ ยาวได้ถึง 5 เมตร มีขนนุ่มๆ ขึ้นประปราย เป็นไม้เนื้ออ่อน มีสัน 5 เหลี่ยมเรียบหรือมีขน และมีร่องตื้นๆ ตามแนวยาว มีมือเกาะสำหรับยึด แบบเดี่ยว เถาหรือลำต้นอ่อนสีเขียว 

ใบ เดี่ยวเรียงสลับแผ่นใบกว้างรูปไข่ถึงรูปไตหรือคล้ายทรงกลม เรียบมีขนนุ่มเล็กน้อย โดยเฉพาะที่เส้นใบทั้ง 2 ด้าน โคนใบเว้ารูปหัวใจ ใบหยักลึกรูปมือ 5-9 หยัก แต่ละหยักรูปไข่กลับรูปไข่เรียวยาวหรือรูปเหลี่ยมข้าวแหลมตัดแคบไปหาโคนปลายแหลมมีติ่งขอบใบเว้าเป็นคลื่นซี่ฟัน 5-7 หยัก หรือเป็นคลื่นเล็กๆ ก้านใบยาว 1-7 ซม. 

ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ตามบริเวณซอกใบและปลายยอด ช่อหนึ่งมี 5 – 8 ดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่คนละดอก กลีบบางกลีบช้ำง่าย กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปไข่ปลาแหลมสีเขียวอ่อนแยกใกล้ฐาน ปลายกลีบสั้น กลีบดอกสีเหลืองรูประฆังมี 5 แฉก ผิวขรุขระมาก ห้อยลงรูปไข่กว้างสอบเรียวลงเป็นจงอย มีเส้นใบแถวไม่เรียบตามยาว 8-9 แถว ระหว่างแถวมีตุ้มเล็กๆ ขนาดไม่เท่ากันมากมาย โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายกลีบดอกอาจจะมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อย 

ผล เป็นผลเดี่ยว ลักษณะผลป้อมเล็กรูปกระสวยหรือรูปรี ผิวภายนอกผลขรุขระเป็นคลื่นทั่วทั้งผล โคนและปลายแหลม ผลอ่อนสีเขียวสด เมื่อสุกจะสีส้มหรือสีเหลืองอมแดงและผลนั้นก็จะแตกที่ปลายแยกออกเป็น 3 ส่วน เมล็ด ลักษณะรูปกลม แบน สีขาวหรือน้ำตาลรูปคู่ขนาน มีเนื้อสีแดงหุ้ม ผิวมีลวดลายขอบเป็นร่อง เมล็ดสุกจะมีสีแดงสด

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนช่วยในการชะลอความแก่ชราได้ 
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย 
  • ช่วยต่อต้านและป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง 
  • ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในตับอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีส่วนช่วยในการลดความอ้วน 
  • ช่วยป้องกันการหนาตัวของผนังหลอดเลือดแดง 
  • ช่วยยับยั้งเชื้อเอดส์หรือ HIV 
  • ช่วยรักษาโรคหอบหืด 
  • ช่วยบำบัดและรักษาโรคเบาหวาน สามารถลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้เป็นอย่างดี โดยจะออกฤทธิ์ทันทีหลังรับประทานประมาณ 60 นาที 
  • ช่วยลดความดันโลหิต 
  • ช่วยให้เจริญอาหาร เพราะมีสารที่มีรสขม ช่วยกระตุ้นน้ำย่อยให้ออกมามากยิ่งขึ้น ทำให้รับประทานอาหารได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น 
  • ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ เพิ่มพูนลมปราณ ด้วยการใช้เมล็ดแห้งของมะระขี้นกประมาณ 3 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม 
  • แก้ธาตุไม่ปกติ ประโยชน์ของมะระ 
  • ใช้เป็นยาช่วยในการฟอกเลือด 
  • ช่วยในการนอนหลับ 
  • ช่วยบำรุงสายตา แก้อาการตาฟาง ช่วยในการถนอมสายตา ช่วยทำให้ดวงตาสว่างสดใสขึ้น แก้ตาบวมแดง 
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ 
  • ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย 
  • ช่วยแก้ไข้ที่เกิดจากการถูกความร้อน ด้วยการใช้ผลสดของมะระขี้นก คว้านไส้ออก ใส่ใบชาแล้วประกบกันน้ำแล้วนำไปตากในที่ร่มให้แห้ง รับประทานครั้งละ 6-10 กรัม โดยจะต้มน้ำดื่มหรือชงดื่มเป็นชาก็ได้ 
  • ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง 
  • ช่วยลดเสมหะ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ผลสด - ต้มรับประทาน ครั้งละ 6-15 กรัม หรือผิงไฟให้แห้ง บดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอก ตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอก 
  • เมล็ดแห้ง - 3 กรัม ต้มน้ำดื่ม 
  • ใบสด - 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือใบแห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้าง กอก หรือคั้นเอาน้ำทา 
  • รากสด - 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง 
  • เถาแห้ง - 3-12 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง หรือตำพอก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 
  2. www.rspg.or.th 
  3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 
  4. www.gotoknow.org 
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
  6. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 194. http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_22_3.htm