ตาลโตนด
  ชื่อสามัญภาษาไทยตาลโตนด
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPalmyra Palm, Lontar, Fan Palm
  ชื่อวิทยาศาสตร์Borassus flabellifer Linn.
  ชื่อวงศ์Arecaceae
  ชื่อท้องถิ่นภาคกลาง และทั่วไป เรียก ต้นตาลโตนด, ต้นตาล ภาคใต้ เรียก ตาลโตนด หรือ ต้นโตนด ยะลา และปัตตานี เรียก ปอเก๊าะตา
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ตาลโตนด เป็นไม้วงศ์ปาล์ม และมะพร้าว แต่มีลำต้นแข็งแรง และอายุยืนยาวมากกว่า อายุยืนประมาณ 80-100 ปี โตเต็มที่สูงได้กว่า 18- 25 เมตร หรือมากกว่า เริ่มให้น้ำตาล และลูกได้เมื่ออายุประมาณ 10-15 ปี เป็นพืชที่ขึ้นได้บนดินทุกชนิด ทนแล้ง และน้ำท่วมได้ดี ไม่มีผลต่อพืชอื่นๆ รอบข้าง เช่น นาข้าว สวนผัก รากมีลักษณะเป็นกลมยาว สีน้ำตาล คล้ายรากมะพร้าว แต่หยั่งลึกได้ลึกมาก และไม่แผ่ไปตามผิวดิน ทำให้ไม่โค่นล้มง่าย ลำต้นตาลโตนดคล้ายต้นมะพร้าว เปลือกลำต้นขรุขระ และมีสีขี้เถ้าออกดำ มีลักษณะลำต้นกลม ตรง สูงชะลูด ความสูงประมาณ 18-25 เมตร หรือมากกว่า บางต้นอาจสูงถึง 30 เมตร ต้นที่มีอายุน้อยจะมีโคนต้นอวบใหญ่ (ประมาณ 1 เมตร) แต่เมื่อสูงได้ประมาณ 4 เมตร ลำต้นจะเรียวลง (ประมาณ 40 เซนติเมตร) และเริ่มขยายใหญ่ที่ความสูงประมาณ 10 เมตร (ประมาณ 50 เซนติเมตร) และคงขนาดจนถึงยอด เนื้อไม้เป็นเสี้ยนแข็ง เหนียว ไม่หักง่าย 

ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะเป็นรูปพัด ขนาดใหญ่ แข็งและหนา มีใบย่อย เรียกว่า Segment ที่แตกออกจากปลายก้านใบ ใบแตกออกบริเวณเรือนยอดเป็นกลุ่มแน่น ประมาณ 25-40 ใบ ใบแก่จะมีสีน้ำตาลอ่อน ใบกว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร ก้านใบหรือทางตาลยาวประมาณ 1-2 เมตร ด้านขอบทางตาลมีหนามแหลมสั้น ขนาดไม่สม่ำเสมอกัน อายุใบประมาณ 3 ปี 

ดอกตาลโตนดออกดอกเป็นช่อ แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย ซึ่งอยู่แยกต้นกัน ช่อดอกต้นผู้เรียก “งวงตาล” ต้นหนึ่งมีช่อดอก 3-9 ช่อ ช่อดอกแตกแขนง 2-4 งวงต่อช่อ หนึ่งงวงยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกต้นตัวเมีย เรียก “ปลีตาล” หรือบางที่เรียก งวงตาล เหมือนกัน ออกช่อหลังต้นตัวผู้ หนึ่งต้นมีประมาณ 10 ช่อ ผลตาลโตนดจะออกที่ต้นตัวเมียเท่านั้น ที่เจริญมาจากช่อดอก เรียกว่า ทะลาย เก็บผลอ่อนได้ที่ประมาณ 75-80 วัน หลังออกดอก ในแต่ละทะลายมี 10-20 

ผล ผลอ่อนมีสีเขียว จาวตาลอ่อนนุ่มหรือด้านในยังเป็นน้ำ ส่วนผลแก่ มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ผิวเป็นมัน เนื้อจาวตาลเป็นเส้นใยละเอียด เหนียว มีสีขุ่นขาวจนถึงเหลืองแก่ตามอายุผล และมีกลิ่นหอม เปลือก และจาวตาลแก่นิยมนำไปใช้ทำขนมตาล และใช้แต่งสีขนมต่างๆ

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่อดอก และน้ำตาล – น้ำตาลสดใช้เป็นยาระบาย เป็นกระสายยาบำรุง – ช่อดอกหรืองวงตาลที่ยังอ่อนนำมาฝานต้ม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาเจริญอาหาร รักษาตาลโขมยในเด็ก ฝนทำยารักษาแผล แก้ร้อนใน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ 
  • ผลตาล ผลตาลแก่ คั้นเอาน้ำจากเปลือกผล ใช้ต้มดื่ม กินแก้โรคตานขโมย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข ร้อนในกระหายน้ำ หรือใช้แช่น้ำอาบ แก้ผดผื่นคัน

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  งวงขับพยาธิ
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สำนักงานการเกษตรจังหวัดสงขลา, 2542. ตาลโตนดสงขลา.
  2. พระสมพงษ์ เนาสันเทียะ, 2552. การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าตาลโตนดในวัดตามวิถีพุทธจังหวัดนครราชสีมา.
  3. สมเกียรติ ขันอ่อน, 2552. การพัฒนาและการผลิตสารสกัดจากไม้พะยอมในรูปแบบผงเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลสด.