งิ้ว
  ชื่อสามัญภาษาไทยงิ้ว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCotton tree, Kapok tree, Red cotton tree, Silk cotton, Shving brush
  ชื่อวิทยาศาสตร์Bombax ceiba L.
  ชื่อพ้องBombax malabaricum DC., Gossampinus malabarica Merr.
  ชื่อวงศ์Malvaceae
  ชื่อท้องถิ่นงิ้วบ้าน (ทั่วไป), งิ้วแดง (กาญจนบุรี), งิ้วปง งิ้วปกแดง สะเน้มระกา (ชอง-จันทบุรี), งิ้วป่า, งิ้วปงแดง, งิ้วหนาม, นุ่นนาง, ตอเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปั้งพัวะ (ม้ง), บักมี้ (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นงิ้ว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกว้างถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของต้นเป็นรูปทรงพุ่มเป็นรูปไข่ มีความสูงของลำต้นประมาณ 15-25 เมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 25-30 เมตร) และความกว้างของทรงพุ่มประมาณ 15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรงและมีหนามอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน ต้นอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยจะพบขึ้นในที่ราบและตามป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-600 เมตร ซึ่งในปัจจุบันต้นงิ้วจะหาดูได้ยากมาก จะมีปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือไม่กี่ที่เท่านั้น

ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยประมาณ 3-7 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 6-10 นิ้ว ใบสีเขียวไม่มีขน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ก้านช่อใบยาว โคนก้านบวมเล็กน้อย

ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือตามปลายยอด ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และมีที่เป็นสีทองแต่หาได้ยาก ดอกมีกลิ่นหอมเอียน ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3-5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยแข็ง ๆ หรือเป็นกลีบเลี้ยงติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน ส่วนกลีบดอกมีขนาดใหญ่และหนา มี 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับมาทางขั้วของดอก หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เรียงกระจายเป็นวงรอบ สีขาวปนสีชมพู ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน สีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มมีความเหนียว ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และจะทิ้งใบก่อนมีดอก

ผลมีลักษณะยาวรีคล้ายฝักรูปทรงกระบอก ที่ปลายทั้งสองข้างของผลจะแหลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกของผลแข็ง มีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว และเมื่อแก่จัดจะแตกอ้าออกตามรอยประสาน ในผลมีเส้นหรือปุยสีขาวและมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีดำ และถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว ๆ สามารถปลิวไปตามลมได้ไกล

สรรพคุณทั่วไป

  • รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง 
  • ยางใช้เป็นยาบำรุงโลหิต 
  • เมล็ดช่วยแก้โรคมะเร็ง 
  • เปลือกต้นช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต 
  • ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาแก้พิษไข้ได้ดีมาก ส่วนหนามมีสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน หนามช่วยหนามแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ 
  • ดอกช่วยระงับประสาท 
  • ดอกช่วยแก้อาการกระหายน้ำ 
  • รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาทำให้อาเจียนถอนพิษ 
  • ใบช่วยรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมในคออักเสบ 
  • ใบช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ 
  • เปลือกต้นและรากช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง 
  • เปลือกต้น ราก และดอก ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง บรรเทาอาการท้องเดิน 
  • เปลือกต้นช่วยแก้บิด ดอกแก้บิดมูกเลือด ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าดอกแดงจะใช้แก้บิดเลือด (บิดถ่ายเป็นเลือด) ให้นำดอกมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใช้ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง ส่วนดอกเหลืองจะใช้แก้บิดมูก ให้ใช้ดอกเหลืองหรือส้มที่เป็นดอกแห้ง เข้าใจว่าใช้ต้มเป็นน้ำชาดื่ม
  • ช่วยแก้อาการท้องร่วง โดยใช้ดอกตากแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • รากและเปลือกรากช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร 
  • ราก เปลือกต้น ดอก และผล ช่วยแก้ตัวพยาธิ 
  • ดอกและราก ช่วยขับปัสสาวะ 
  • เมล็ดใช้เป็นยาร่วมกับพิมเสน ใช้รักษาโรคหนองในเรื้อรัง 
  • ยางช่วยแก้ระดูตกหนักหรือออกมากเกินไป 
  • เปลือกต้น ราก ดอก และผล ช่วยแก้อาการตกโลหิต 
  • ช่วยแก้ไตพิการ ไตชำรุด ไตอักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดงนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง นำมาต้มกินต่างน้ำทุกวัน (หรือจะเอาน้ำต้มจากเปลือกไปหมักเพื่อทำเอนไซม์ก็ได้) 
  • ผลอ่อนใช้บำบัดรักษาแผลเรื้อรังในไต 
  • ยางช่วยขับน้ำเหลืองเสีย 
  • ดอกและรากมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือด ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือดภายใน 
  • รากของต้นอ่อนใช้พอกสมานแผล 
  • ใบและยอดอ่อนใช้ตำพอกรักษาฝี ส่วนรากช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง หนามช่วยแก้ฝีประคำร้อย และยังช่วยดับพิษฝี แก้พิษฝีต่าง ๆ 
  • ดอกช่วยรักษาแผล ฝีหนอง หากเป็นแผลที่มีหนอง ให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วนำมาใช้ชะล้างทำความสะอาดแผล 
  • เมล็ดช่วยรักษาโรคผิวหนัง 
  • ดอกช่วยแก้อาการคัน 
  • ช่วยแก้หัวลำมะลอก (เม็ดที่ขึ้นตามตัวเป็นหนองพุพองมีพิษ), หัวดาวหัวเดือน (เม็ดตุ่มที่ผุดขึ้นตามตัว มีพิษมาก มักขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และนิ้วมือนิ้วเท้า)
  • ราก ใบ และผลช่วยแก้พิษงูทุกชนิด 
  • ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาระงับอาการปวด 
  • ใบแห้งหรือใบสดนำมาตำใช้ทาแก้อาการฟกช้ำ แก้บวม มีอาการอักเสบ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดง 1 กิโลกรัม นำมาล้างให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปใส่ในหม้อต้มยาสมุนไพร เติมน้ำสะอาดลงไป 5 ลิตรและต้มจนเดือด แล้วให้รินเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิเมตร) วันละ 2 ครั้งทุกเช้าและเย็น (น้ำงิ้วที่ได้จะมีสีแดงเหมือนน้ำกระเจี๊ยบ) 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  “งิ้ว“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [7 ม.ค. 2014].
  2. การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนดาราพิทยาคม.  “งิ้ว, งิ้วบ้าน, งิ้วหนาม“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th.  [7 ม.ค. 2014].
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  “งิ้ว เป็นอาหารมีสรรพคุณและประโยชน์“.  (นายเกษตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [7 ม.ค. 2014].
  4. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  “ต้นงิ้ว วัดห้วยหลาด อำเภอรัตภูมิ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [7 ม.ค. 2014].
  5. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
  6. ลานธรรมจักร.  “ต้นงิ้ว วิมานฉิมพลีของนางกากี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dhammajak.net.  [7 ม.ค. 2014].
  7. องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้.  “ดอกงิ้ว สมุนไพรไทย แคลเซียมสูง รักษาสารพัดโรค“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.fio.co.th/p/magazine_fio/files/5503.pdf‎.  [7 ม.ค. 2014].
  8. ภูมิปัญญาอภิวัฒน์.  “สมุนไพรเปลือกงิ้วต้มกินแก้ไตพิการ“.  (สมหวัง วิทยาปัญญานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.budmgt.com.  [7 ม.ค. 2014].
  9. รักบ้านเกิด.  “การใช้งิ้วแดงรักษาโรคความดันโลหิตสูง“.  (บรรทม จิตรชม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com.  [7 ม.ค. 2014].
  10. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Kapok tree“.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:eherb.hrdi.or.th.  [7 ม.ค. 2014].
  11. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “งิ้วแดง“.  (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ).  อ้างอิงใน: thrai.sci.ku.ac.th/node/1694.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [7 ม.ค. 2014].
  12. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย  (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  13. สมุนไพรดอตคอม.  “งิ้วแดง“.  (manji).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com.  [7 ม.ค. 2014].
  14. คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ.  “มารู้จัก… ต้นงิ้ว กันเถอะ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: forensic.rpca.ac.th/pdf/bombax.pdf.  [7 ม.ค. 2014].